การควบคุมอาวุธ : การประชุมสันติภาพกรุงเฮก (ค.ศ. 1899 และ ค.ศ. 1907)
การประชุมระหว่างประเทศครั้งพิเศษ ที่ได้จัดขึ้นโดยการริเริ่มของพระเจ้าซาร์ นิโคลัส แห่งรัสเซีย เพื่อให้มีการตกลงกันเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธ และเกี่ยวกับมาตรการอื่น ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อธำรงสันติภาพ และทำให้สงครามมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียในที่ประชุมกรุงเฮกในครั้งแรกซึ่งได้เรียกร้องให้ประเทศที่เข้าร่วมประชุมทั้งปวงตกลงที่จะจำกัดอาวุธของตนให้อยู่ในระดับเดิมไม่มีชาติใดให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี มติที่มีข้อความคลุมเครือที่เรียกร้องให้ทุกรัฐพิจารณาจำกัดงบประมาณในการสงครามเพื่อ “สวัสดิภาพของมวลมนุษย์” ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ส่วนในการประชุมกรุงเฮกครั้งที่สองนั้น ความพยายามของฝ่ายอังกฤษที่จะให้มีการตกลงกันในเรื่องจำกัดอาวุธไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อหัวหน้าคณะผู้แทนของเยอรมันได้ข่มขู่ว่าจะคัดค้านข้อเสนอการควบคุมอาวุธทุกอย่างที่มีการเสนอขึ้นมา
ความสำคัญ การประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกทั้งสองครั้งนี้ มิได้สร้างมาตรการควบคุมอาวุธใด ๆ ที่ดูเข้มงวดจริงจัง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญในด้านการลดกำลังรบ ทั้งนี้เพราะการประชุมที่กรุงเฮกทั้งสองครั้งนี้ นับว่าเป็นความพยายามครั้งแรกของประชาคมระหว่างประเทศ ที่จะให้มีการจำกัดอาวุธโดยให้มีข้อตกลงระดับระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี การประชุมกันนี้สามารถบรรลุข้อตกลงที่สำคัญในด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ ได้มีการจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการประจำ และมีการจัดทำประมวลกฎหมายว่าด้วยสงครามและความเป็นกลางขึ้นมา ความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จของการประชุมกที่รุงเฮก เพื่อหาทางยุติการแข่งขันอาวุธครั้งนี้ทำให้เกิดผลตามมาด้วยหายนภัยของสงครามโลกครั้งที่ 1 การประชุมและสงครามที่เกิดขึ้นช่วยให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โดยพยายามดำเนินการอย่างเป็นทางการให้มีเจรจาเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 กับทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ภายใต้ระบบของสันนิบาตชาติ
No comments:
Post a Comment