การควบคุมอาวุธ
มาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือที่ได้ดำเนินการโดยผ่านทางข้อตกลงระหว่างรัฐ เพื่อลดอันตรายของสงครามโดยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้นว่า การลดกำลังรบบางส่วน การจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับความมั่นคงเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ และการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในระดับกองกำลัง มาตรการควบคุมอาวุธนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดการแข่งขันอาวุธในบางส่วนเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ห้ามมิให้มีอาวุธบางประเภท จำกัดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือสร้างเขตปลอดทหารในบางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
ความสำคัญ ถึงแม้ว่าศัพท์ว่า การควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบนี้ ในบางครั้งจะมีการใช้แทนกันได้ก็จริง แต่การควบคุมอาวุธก็มีข้อแตกต่างจากการลดกำลังรบ ตรงจุดที่การควบคุมอาวุธมีจุดประสงค์หลัก คือ เพื่อสร้างเสถียรภาพยิ่งกว่าเพื่อจะไปลดหรือจำกัดอาวุธ มาตรการควบคุมอาวุธที่ได้รับมาใช้เพื่อจำกัดการแข่งขันอาวุธในยุคปัจจุบันนี้มีดังนี้ คือ (1) สนธิสัญญาแอนตาร์กติกปี ค.ศ. 1959 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นเขตปลอดทหาร (2) สนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์บางส่วนปี ค.ศ. 1963 มีจุดมุ่งหมายเพื่อห้ามการทดลองนิวเคลียร์ทุกพื้นที่ยกเว้นการทดลองนิวเคลียร์ที่ใต้ดิน (3) สนธิสัญญาอวกาศปี ค.ศ. 1967 มีจุดมุ่งหมายเพื่อห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นไปติดตั้งอยู่ในอวกาศ และในวัตถุในฟากฟ้าใด ๆ (4) มีการติดตั้งสายคมนาคมเชื่อมโยงกันโดยตรง (ฮอตไลน์) เมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 ระหว่างกรุงมอสโกกับกรุงวอชิงตัน กับกรุงปารีส และกับกรุงลอนดอน (5) สนธิสัญญาห้ามนำอาวุธเข้าไปในละตินอเมริกา (สนธิสัญญาทลาตีลอลโก) ซึ่งสร้างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นที่ละตินอเมริกา (เอ็นดับเบิลยูเอฟเซช) (6) สนธิสัญญาห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ปี ค.ศ. 1967 ซึ่งเป็นการหาทางจำกัดสมาชิกสมาคมนิวเคลียร์ให้มีจำนวนคงเดิม (7) สนธิสัญญาพื้นท้องทะเลปี ค.ศ. 1970 ซึ่งห้ามติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในพื้นท้องทะเลนอกน่านน้ำอาณาเขตสิบสองไมล์ โดยรัฐผู้ลงนามในสนธิสัญญานี้ และ (8) สนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ ที่เรียกกันว่า ซอลท์วัน และซอลท์ทู ซึ่งเป็นความพยายามของทั้งของสหภาพโซเวียตและของสหรัฐอเมริกาที่จะงดการแข่งขันทางด้านอาวุธ
No comments:
Post a Comment