การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาแอนตาร์กติกปี ค.ศ. 1959
ข้อตกลงห้ามการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารในทวีปแอนตาร์กติกา และป้องกันมิให้ทวีปแห่งนี้ตกไปอยู่ในความขัดแย้งในสงครามเย็น สนธิสัญญาแอนตาร์กติกนี้ ได้ลงนามกันเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1959 และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1961 คือ หลังจากที่ชาติผู้ลงนามในสนธิสัญญานี้จำนวน 12 ชาติได้ให้สัตยาบันแล้ว คือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ชิลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นมา บราซิล จีน อินเดีย อุรุกวัย โปแลนด์ และเยอรมนีตะวันตก ก็ได้เป็นภาคีสมบูรณ์ของสนธิสัญญานี้ ส่วนอีก 16 ชาติที่มิได้ทำการวิจัยอยู่ในพื้นที่นี้ ได้เป็นชาติภาคีประเภทที่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง บทบัญญัติของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ (1) ห้ามทำกิจกรรมทางด้านการทหารทั้งปวงในทวีปแอนตาร์กติกา โดยให้แต่ละภาคีผู้ร่วมลงนามมีสิทธิที่จะตรวจสอบทางอากาศได้ (2) ห้ามทดลองนิวเคลียร์ หรือนำกากปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไปทิ้งในทวีปแห่งนี้ (3) ให้แต่ละภาคีมีสิทธิที่จะตรวจสอบอุปกรณ์การติดตั้งของกันและกันเพื่อป้องกันการละเมิดบทบัญญัติเหล่านี้ (4) ไม่รับรองการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนตามที่ได้อ้างกันมาแต่เดิมแล้วนั้น กับได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในทวีปนี้ขึ้นมาใหม่อีก และ (5) ให้มีความรับผิดชอบที่จะแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันโดยสันติ กับให้ความร่วมมือกันในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในทวีปแห่งนี้ บทบัญญัติเหล่านี้ให้ใช้กับดินแดนทั้งปวงที่อยู่ใต้เส้นรุ้ง 60 องศาใต้ และให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีการพิจารณาทบทวนหลังจากที่ผ่านพ้นไปแล้ว 30 ปี
ความสำคัญ สนธิสัญญาแอนตาร์กติกนี้ เป็นข้อตกลงลดกำลังรบครั้งแรกที่ตกลงกันได้ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในระหว่างยุคสงครามเย็น และก็ได้มีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะผู้สังเกตการณ์ระดับชาติภายใต้บทบัญญัติที่ได้ให้อำนาจนี้ไว้ในสนธิสัญญา และก็ไม่มีการละเมิดใด ๆ เกิดขึ้นมาเลย สนธิสัญญาแอนตาร์กติกนี้ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการลดกำลังรบในภาคพื้นดินเป็นครั้งแรก แต่ว่าความพยายามที่จะใช้สูตรสำเร็จของสนธิสัญญาฉบับนี้กับการเจรจาทำข้อตกลงเพื่อสร้างเขตปลอดทหารเพิ่มเติมระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ ในมหาสมุทรอาร์กติกและในภูมิภาคอื่น ๆ กลับมีอันล้มเหลว อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในทวีปอเมริกาใต้ ได้มีการลงนามกันเมื่อ ค.ศ. 1967 และนับตั้งแต่นั้นมารัฐต่าง ๆ ในละตินอเมริกาเกือบทุกรัฐ ก็ได้ให้สัตยาบัน (สนธิสัญญาทลาตีลอลโก) ผู้ที่ให้การสนับสนุนการลดกำลังรบ ได้ตั้งความหวังไว้ว่าบทบัญญัติของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกที่ให้คณะผู้ตรวจสอบในระดับชาติสามารถตรวจสอบได้นี้จะช่วยกำจัดภาวะชะงักงัน (หรือผ่าทางตัน) ในข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาและของสหภาพโซเวียตที่ให้มีการตรวจสอบในระดับระหว่างประเทศ ในการเจรจาลดกำลังรบทั่วไปและอย่างสมบูรณ์แบบ กับในด้านการควบคุมอาวุธในรูปแบบจำกัดนั้นด้วย