Monday, October 19, 2009

Arms Control

การควบคุมอาวุธ

มาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือที่ได้ดำเนินการโดยผ่านทางข้อตกลงระหว่างรัฐ เพื่อลดอันตรายของสงครามโดยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้นว่า การลดกำลังรบบางส่วน การจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับความมั่นคงเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ และการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในระดับกองกำลัง มาตรการควบคุมอาวุธนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดการแข่งขันอาวุธในบางส่วนเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ห้ามมิให้มีอาวุธบางประเภท จำกัดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือสร้างเขตปลอดทหารในบางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าศัพท์ว่า การควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบนี้ ในบางครั้งจะมีการใช้แทนกันได้ก็จริง แต่การควบคุมอาวุธก็มีข้อแตกต่างจากการลดกำลังรบ ตรงจุดที่การควบคุมอาวุธมีจุดประสงค์หลัก คือ เพื่อสร้างเสถียรภาพยิ่งกว่าเพื่อจะไปลดหรือจำกัดอาวุธ มาตรการควบคุมอาวุธที่ได้รับมาใช้เพื่อจำกัดการแข่งขันอาวุธในยุคปัจจุบันนี้มีดังนี้ คือ (1) สนธิสัญญาแอนตาร์กติกปี ค.ศ. 1959 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นเขตปลอดทหาร (2) สนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์บางส่วนปี ค.ศ. 1963 มีจุดมุ่งหมายเพื่อห้ามการทดลองนิวเคลียร์ทุกพื้นที่ยกเว้นการทดลองนิวเคลียร์ที่ใต้ดิน (3) สนธิสัญญาอวกาศปี ค.ศ. 1967 มีจุดมุ่งหมายเพื่อห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นไปติดตั้งอยู่ในอวกาศ และในวัตถุในฟากฟ้าใด ๆ (4) มีการติดตั้งสายคมนาคมเชื่อมโยงกันโดยตรง (ฮอตไลน์) เมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 ระหว่างกรุงมอสโกกับกรุงวอชิงตัน กับกรุงปารีส และกับกรุงลอนดอน (5) สนธิสัญญาห้ามนำอาวุธเข้าไปในละตินอเมริกา (สนธิสัญญาทลาตีลอลโก) ซึ่งสร้างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นที่ละตินอเมริกา (เอ็นดับเบิลยูเอฟเซช) (6) สนธิสัญญาห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ปี ค.ศ. 1967 ซึ่งเป็นการหาทางจำกัดสมาชิกสมาคมนิวเคลียร์ให้มีจำนวนคงเดิม (7) สนธิสัญญาพื้นท้องทะเลปี ค.ศ. 1970 ซึ่งห้ามติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในพื้นท้องทะเลนอกน่านน้ำอาณาเขตสิบสองไมล์ โดยรัฐผู้ลงนามในสนธิสัญญานี้ และ (8) สนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ ที่เรียกกันว่า ซอลท์วัน และซอลท์ทู ซึ่งเป็นความพยายามของทั้งของสหภาพโซเวียตและของสหรัฐอเมริกาที่จะงดการแข่งขันทางด้านอาวุธ

Arms Control : Antarctic Treaty of 1959

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาแอนตาร์กติกปี ค.ศ. 1959

ข้อตกลงห้ามการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารในทวีปแอนตาร์กติกา และป้องกันมิให้ทวีปแห่งนี้ตกไปอยู่ในความขัดแย้งในสงครามเย็น สนธิสัญญาแอนตาร์กติกนี้ ได้ลงนามกันเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1959 และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1961 คือ หลังจากที่ชาติผู้ลงนามในสนธิสัญญานี้จำนวน 12 ชาติได้ให้สัตยาบันแล้ว คือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ชิลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นมา บราซิล จีน อินเดีย อุรุกวัย โปแลนด์ และเยอรมนีตะวันตก ก็ได้เป็นภาคีสมบูรณ์ของสนธิสัญญานี้ ส่วนอีก 16 ชาติที่มิได้ทำการวิจัยอยู่ในพื้นที่นี้ ได้เป็นชาติภาคีประเภทที่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง บทบัญญัติของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ (1) ห้ามทำกิจกรรมทางด้านการทหารทั้งปวงในทวีปแอนตาร์กติกา โดยให้แต่ละภาคีผู้ร่วมลงนามมีสิทธิที่จะตรวจสอบทางอากาศได้ (2) ห้ามทดลองนิวเคลียร์ หรือนำกากปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไปทิ้งในทวีปแห่งนี้ (3) ให้แต่ละภาคีมีสิทธิที่จะตรวจสอบอุปกรณ์การติดตั้งของกันและกันเพื่อป้องกันการละเมิดบทบัญญัติเหล่านี้ (4) ไม่รับรองการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนตามที่ได้อ้างกันมาแต่เดิมแล้วนั้น กับได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในทวีปนี้ขึ้นมาใหม่อีก และ (5) ให้มีความรับผิดชอบที่จะแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันโดยสันติ กับให้ความร่วมมือกันในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในทวีปแห่งนี้ บทบัญญัติเหล่านี้ให้ใช้กับดินแดนทั้งปวงที่อยู่ใต้เส้นรุ้ง 60 องศาใต้ และให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีการพิจารณาทบทวนหลังจากที่ผ่านพ้นไปแล้ว 30 ปี

ความสำคัญ สนธิสัญญาแอนตาร์กติกนี้ เป็นข้อตกลงลดกำลังรบครั้งแรกที่ตกลงกันได้ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในระหว่างยุคสงครามเย็น และก็ได้มีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะผู้สังเกตการณ์ระดับชาติภายใต้บทบัญญัติที่ได้ให้อำนาจนี้ไว้ในสนธิสัญญา และก็ไม่มีการละเมิดใด ๆ เกิดขึ้นมาเลย สนธิสัญญาแอนตาร์กติกนี้ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการลดกำลังรบในภาคพื้นดินเป็นครั้งแรก แต่ว่าความพยายามที่จะใช้สูตรสำเร็จของสนธิสัญญาฉบับนี้กับการเจรจาทำข้อตกลงเพื่อสร้างเขตปลอดทหารเพิ่มเติมระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ ในมหาสมุทรอาร์กติกและในภูมิภาคอื่น ๆ กลับมีอันล้มเหลว อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในทวีปอเมริกาใต้ ได้มีการลงนามกันเมื่อ ค.ศ. 1967 และนับตั้งแต่นั้นมารัฐต่าง ๆ ในละตินอเมริกาเกือบทุกรัฐ ก็ได้ให้สัตยาบัน (สนธิสัญญาทลาตีลอลโก) ผู้ที่ให้การสนับสนุนการลดกำลังรบ ได้ตั้งความหวังไว้ว่าบทบัญญัติของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกที่ให้คณะผู้ตรวจสอบในระดับชาติสามารถตรวจสอบได้นี้จะช่วยกำจัดภาวะชะงักงัน (หรือผ่าทางตัน) ในข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาและของสหภาพโซเวียตที่ให้มีการตรวจสอบในระดับระหว่างประเทศ ในการเจรจาลดกำลังรบทั่วไปและอย่างสมบูรณ์แบบ กับในด้านการควบคุมอาวุธในรูปแบบจำกัดนั้นด้วย

Arms Control : Chemical/Biological Weapons (CBW)

การควบคุมอาวุธ : อาวุธเคมี/อาวุธชีวภาพ (ซีบีดับเบิลยู)

อาวุธมหาประลัย ที่ใช้สื่อนำที่เป็นพิษ หรือเชื้อพิษต่าง ๆ อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพต่าง ๆ ในทางกฎหมายได้ถูกห้ามใช้ในสงคราม ตามข้อตกลงเจนีวาโปรโตคอลปี ค.ศ. 1925 อย่างไรก็ดี ข้อตกลงฉบับนี้เพียงแต่ห้ามใช้อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ แต่มิได้ห้ามผลิตและสะสมไว้ในคลังแสงแต่อย่างใด ในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ได้มีการเจรจากันหลายครั้งที่กรุงเจนีวา โดยชาติต่าง ๆ 40 ชาติในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดกำลังรบ เพื่อให้บรรลุถึงการห้ามทุกอย่างเกี่ยวกับอาวุธเคมีทุกชนิด และเมื่อปี ค.ศ. 1972 ก็ได้มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธชีวภาพ ซึ่งห้ามการครอบครองอาวุธชีวภาพและอาวุธเชื้อพิษต่าง ๆ ที่ได้มาจากพิษธรรมชาติมีพิษงู เป็นต้น มีชาติ
ต่าง ๆ เกือบร้อยชาติได้เข้าเป็นภาคีของทั้งข้อตกลงเจนีวาโปรโตคอล และอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธชีวภาพนี้ ทั้งนี้รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตด้วย

ความสำคัญ เมื่อปี ค.ศ. 1987 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเรแกน โดยความเห็นชอบของสภาคองเกรส ได้เริ่มพัฒนาอาวุธเคมีที่ใช้สารเคมีสองตัวแบบใหม่ขึ้นมา อาวุธที่ใช้สารเคมีสองตัวนี้ ไม่เหมือนกับอาวุธสารเคมีตัวเดียวที่ใช้สารเคมีเพียงตัวเดียวก็สามารถใช้ได้แล้ว แต่อาวุธเคมีชนิดสารสองตัวนี้จะมีสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงสองตัวอยู่ด้วยกัน ที่เมื่อนำมาใช้ในปฏิบัติการทางทหารแล้วจะรวมตัวกันเป็นสื่อนำที่มีอานุภาพร้ายแรงมาก ด้วยเหตุนี้ อาวุธเคมีชนิดที่มีสารเคมีสองตัวนี้ จึงมีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยมากกว่าชนิดที่มีสารตัวเดียวเมื่อเวลาเก็บไว้ในคลังแสง และในขณะเดียวกันก็จะยังคงสภาพเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพในความเป็นมหาประลัยอยู่เสมอ สภาคองเกรสได้ให้อำนาจในการผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม.บรรจุสารเคมี 2 ตัว และอาวุธเคมีอย่างอื่น ๆ ถึงจำนวนหนึ่งล้านนัด โดยให้เริ่มผลิตได้ในปี ค.ศ. 1987 อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้มีการสะสมอาวุธเคมีกันใหม่อีกระลอกหนึ่งหลังจากที่ได้ว่างเว้นมาเป็นเวลา 20 ปีแล้วก็ตาม แต่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดกำลังรบ ก็ได้เสนอร่างสนธิสัญญาที่ตกลงกันได้ในหลายเรื่อง ส่วนเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ก็คือ วิธีการตรวจสอบและการบังคับใช้ในกรณีที่มีการละเมิดเกิดขึ้น

Arms Control : Hague Peace Conferences (1899 and 1907)

การควบคุมอาวุธ : การประชุมสันติภาพกรุงเฮก (ค.ศ. 1899 และ ค.ศ. 1907)

การประชุมระหว่างประเทศครั้งพิเศษ ที่ได้จัดขึ้นโดยการริเริ่มของพระเจ้าซาร์ นิโคลัส แห่งรัสเซีย เพื่อให้มีการตกลงกันเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธ และเกี่ยวกับมาตรการอื่น ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อธำรงสันติภาพ และทำให้สงครามมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียในที่ประชุมกรุงเฮกในครั้งแรกซึ่งได้เรียกร้องให้ประเทศที่เข้าร่วมประชุมทั้งปวงตกลงที่จะจำกัดอาวุธของตนให้อยู่ในระดับเดิมไม่มีชาติใดให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี มติที่มีข้อความคลุมเครือที่เรียกร้องให้ทุกรัฐพิจารณาจำกัดงบประมาณในการสงครามเพื่อ “สวัสดิภาพของมวลมนุษย์” ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ส่วนในการประชุมกรุงเฮกครั้งที่สองนั้น ความพยายามของฝ่ายอังกฤษที่จะให้มีการตกลงกันในเรื่องจำกัดอาวุธไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อหัวหน้าคณะผู้แทนของเยอรมันได้ข่มขู่ว่าจะคัดค้านข้อเสนอการควบคุมอาวุธทุกอย่างที่มีการเสนอขึ้นมา

ความสำคัญ การประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกทั้งสองครั้งนี้ มิได้สร้างมาตรการควบคุมอาวุธใด ๆ ที่ดูเข้มงวดจริงจัง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญในด้านการลดกำลังรบ ทั้งนี้เพราะการประชุมที่กรุงเฮกทั้งสองครั้งนี้ นับว่าเป็นความพยายามครั้งแรกของประชาคมระหว่างประเทศ ที่จะให้มีการจำกัดอาวุธโดยให้มีข้อตกลงระดับระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี การประชุมกันนี้สามารถบรรลุข้อตกลงที่สำคัญในด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ ได้มีการจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการประจำ และมีการจัดทำประมวลกฎหมายว่าด้วยสงครามและความเป็นกลางขึ้นมา ความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จของการประชุมกที่รุงเฮก เพื่อหาทางยุติการแข่งขันอาวุธครั้งนี้ทำให้เกิดผลตามมาด้วยหายนภัยของสงครามโลกครั้งที่ 1 การประชุมและสงครามที่เกิดขึ้นช่วยให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โดยพยายามดำเนินการอย่างเป็นทางการให้มีเจรจาเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 กับทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ภายใต้ระบบของสันนิบาตชาติ

Arms Control : Helsinki Accord

การควบคุมอาวุธ : ข้อตกลงกรุงเฮลซิงกิ

ข้อตกลงทางการทูตที่สำคัญ ลงนามกันที่กรุงเฮลซิงกิเมื่อปี ค.ศ. 1975 หลังเสร็จสิ้นการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือกันในยุโรป (ซีเอสซีอี) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในยุโรประหว่างฝ่ายตะวันตกกับฝ่ายตะวันออก ข้อตกลงนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กรรมสารสุดท้ายกรุงเฮลซิงกิ” เป็นข้อตกลงที่ได้ลงนามโดยผู้เข้าร่วมประชุมจาก 35 ชาติ ที่เป็นชาติในกลุ่มสนธิสัญญานาโต ที่เป็นชาติในกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ส่วนอีก 13 ชาตินั้นเป็นชาติเป็นกลางและชาติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในยุโรป ข้อตกลงเฮลซิงกินี้ แยกออกเป็น 4 หมวด หรือ “บาสเกต” โดยที่หมวดหรือบาสเกตที่ 1 กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในทวีปยุโรป ซึ่งรวมถึงหลักการขั้นพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและปัญหาของความมั่นคงโดยเฉพาะ ซึ่งก็รวมทั้งการหามาตรการสร้างความมั่นใจขึ้นมาให้ได้ หมวดหรือบาสเกตที่ 2 กำหนดในเรื่องความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี และด้านสภาพแวดล้อม ส่วนบาสเกตที่ 3 ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมความพยายามในด้านมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม การศึกษา และความมีอิสระในการเคลื่อนย้ายประชาชน แนวความคิดและข่าวสารไปได้ทั่วทวีปยุโรป สำหรับบาสเกตที่ 4 ว่าด้วยการจัดให้มีการประชุมพิจารณาทบทวน โดยได้เรียกร้องให้รัฐผู้เข้าร่วมประชุม “ได้สืบสานกระบวนการพหุภาคีที่ได้ริเริ่มโดยที่ประชุมนี้ต่อไป” การประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ที่สำคัญได้จัดขึ้นที่กรุงเบลเกรด (ค.ศ. 1977) ที่กรุงมาดริด (ค.ศ. 1980) และที่กรุงเวียนนา (ค.ศ. 1987)

ความสำคัญ ข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้ เป็นความพยายามสำคัญที่จะลดความเป็นศัตรูกันระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก โดยให้ชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรปทุกชาติรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ได้ยอมรับสถานภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรปตลอดจนได้หันมาให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับความร่วมมือและความเข้าใจกันระหว่างทุกชาติในยุโรป ถึงแม้ว่าข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้จะเป็นเพียงข้อตกลงทางการทูต มิใช่สนธิสัญญาและไม่มีผลผูกพันเป็นกฏหมายระหว่างประเทศก็จริง แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ได้สร้างความคาดหวังบางอย่างเกี่ยวกับความประพฤติของรัฐต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม และได้มีการกำหนดให้มีการประชุมพิจารณาทบทวนเป็นระยะ ๆ ในเรื่องที่ได้คาดหวังเอาไว้แล้วเหล่านี้ มีผลดีบางอย่างได้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการลงนามในกรรมสารสุดท้ายกรุงเฮลซิงกิฉบับนี้ ยกตัวอย่างเช่น ทางการโซเวียตได้อนุญาตให้ชาวยิวอพยพไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ได้ภายหลังจากมีข้อตกลงเฮลซิงกินี้แล้ว ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันก็ได้ประกาศนิรโทษกรรมและปล่อยนักโทษทางการเมืองหลายราย สำหรับในด้านการให้ความคุ้มครองสภาพแวดล้อมนั้น รัฐต่าง ๆ ในทวีปยุโรปที่ได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเฮลซิงกินี้ ก็ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ดี ได้มีการกระทำหลายอย่างที่บ่งบอกว่าเป็นการปฏิเสธหลักการต่าง ๆ ของข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้เหมือนกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหภาพโซเวียตส่งกำลังทหารรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อปี ค.ศ. 1979 สัมพันธภาพระหว่างตะวันออกกับตะวันตกก็ได้เสื่อมทรามลง

Arms Control : “Hot Line” Agreement

การควบคุมอาวุธ : ข้อตกลง “ฮอตไลน์”

บันทึกความเข้าใจระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตที่ลงนามกันที่กรุงเจนีวาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1963 ซึ่งเป็นผลให้มีการติดตั้งสายเชื่อมโยงติดต่อทางไกลอย่างเป็นทางการระหว่างกรุงวอชิงตันกับกรุงมอสโก เพื่อจะได้ให้ประมุขรัฐบาลของสองประเทศนี้สามารถติดต่อกันได้โดยตรงในระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์ การติดต่อทางสายเคเบิลทางไกลในทำนองเดียวกันนี้ ก็ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาระหว่างกรุงมอสโกกับกรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1966 และระหว่างกรุงลอนดอนกับกรุงมอสโกเมื่อปี ค.ศ. 1967 ข้อตกลง “ฮอตไลน์” นี้ได้พัฒนามาจากความกลัวว่าจะมีการใช้สงครามนิวเคลียร์ยิงตอบโต้กัน เพราะผลของการเข้าใจผิด การคำนวณผิดพลาด เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความผิดพลาดในการสื่อสารกัน

ความสำคัญ วิกฤตการณ์อาวุธปล่อยที่คิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1962 ได้กระตุ้นให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกาและของสหภาพโซเวียด เกิดตระหนักถึงภยันตรายร้ายแรงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีผลเพราะผลจากเกิดการล้มเหลวในการติดต่อกัน ซึ่งตอนนั้นประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ต้องใช้เครื่องอำนวยความสะดวกทางการพาณิชย์ติดต่อกับนายกรัฐมนตรี นิคิตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต ข้อตกลงเรื่อง “ฮอตไลน์” นี้เป็นตัวไปช่วยเสริมช่องทางการติดต่อทางการทูตที่มีลักษณะเชื่องช้าอุ้ยอ้าย และการติดต่อด้วยทาง “ฮอตไลน์” นี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลเมื่อปี ค.ศ. 1967 ได้มีการใช้เคเบิลทางไกลติดต่อส่งข่าวสารถึงกันมากกว่า 20 ชิ้น ระหว่างผู้นำสหรัฐกับผู้นำสหภาพโซเวียต ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบอกกันและกันได้ว่าทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการขยายสงครามครั้งนี้ออกไป แนวความคิดให้มีการเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารถึงกันได้นี้ เป็นหนึ่งในจำนวนข้อเสนอต่าง ๆ ที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างนำมาอภิปรายกันตลอดเวลาหลายปี เพื่อใช้เป็นหนทางหนึ่งที่จะลดอันตรายจากสงครามนิวเคลียร์ นอกจากนี้แล้ว ก็ได้มีการเสนอข้อเสนออื่น ๆ อย่างเช่น ให้มีการติดตั้งสถานีตรวจสอบภาคพื้นดิน ให้มีการแจ้งข่าวล่วงหน้าเมื่อจะมีการเคลื่อนย้ายทางการทหารที่สำคัญ ๆ และให้มีการตรวจสอบทางอากาศถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหารของกันและกัน เป็นต้น แต่ข้อเสนอเหล่านี้ได้ถูกปฏิเสธจากฝ่ายสหภาพโซเวียตหรือไม่ก็จากฝ่ายสหรัฐอเมริกาว่ามันจะเป็นเครื่องมือในการจารกรรม หรือเป็นความพยายามที่จะชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางด้านอาวุธของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ดี เมื่อปี ค.ศ. 1987 ได้มีข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตให้มีการแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงในเรื่องฮอตไลน์นี้ให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามในอีกขั้นหนึ่งที่จะป้องกันมิให้เกิดหายนภัยนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุระหว่างกัน ข้อตกลงใหม่นี้ได้กำหนดให้มีการเปิด “ศูนย์ลดความเสี่ยงนิวเคลียร์” ในทั้งสองประเทศ ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ระหว่างกัน และให้ปฏิบัติการร่วมกันเพื่อป้องกันการโจรกรรมอาวุธนิวเคลียร์

Arms Control : Non-Proliferation Treaty (NPT)

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาห้ามการแพร่กระจายนิวเคลียร์ (เอ็นพีที)

ข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในหมู่รัฐต่าง ๆ ที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์นี้ ได้นำมาตอกย้ำในช่วงสี่ปีที่มีการเจรจากันในคณะกรรมาธิการว่าด้วยการลดกำลังรบ 18 ชาติ (ดีเอนดีซี) และในคณะกรรมาธิการการเมืองและความมั่นคงของสมัชชาใหญ่ ซึ่งก็เป็นเหตุนำไปสู่การยอมรับร่างสนธิสัญญาโดยสมัชชาใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1968 ภายใต้ข้อกำหนดของสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้ให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์แต่ละรัฐยินยอม “ที่จะไม่ถ่ายโอน... ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือชี้นำให้รัฐที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ทำการผลิต หรือดำเนินการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์” และให้รัฐที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์แต่ละรัฐยินยอม “ที่จะไม่รับ ... ไม่ผลิต หรือไม่ดำเนินการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์” สนธิสัญญาซึ่งมีบทบัญญัติรวม 11 มาตรานี้ มีผลบังคับใช้หลังจากที่ได้มีการให้สัตยาบันโดยสามมหาอำนาจนิวเคลียร์ (คือ บริเตนใหญ่ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา) และโดยชาติที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อีก 40 ชาติ ในปัจจุบันชาติต่าง ๆ เกือบจะทุกชาติได้ร่วมลงนามในสัญญาฉบับนี้แล้ว และได้ยอมรับบทบัญญัติให้มีการจำกัดเสรีภาพในการกระทำของตนในด้านอาวุธนิวเคลียร์ แต่เพื่อป้องกันมิให้มีการคุกคามด้วยการใช้วิธี “แบล็คเมล์ทางนิวเคลียร์” ในอนาคต มหาอำนาจที่มีนิวเคลียร์ทั้งสามชาติได้เสนอแนะให้คณะมนตรีความมั่นคงปฏิบัติการ “ ให้ความช่วยเหลืออย่างรีบด่วน โดยสอดคล้องกับกฎบัตร แก่รัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการกระทำ หรือตกเป็นเป้าของการข่มขู่คุกคามโดยการใช้อาวุธนิวเคลียร์”

ความสำคัญ สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์นี้ ถือได้ว่าสามารถนำไปสู่ความพยายามที่จะควบคุมการคุกคามกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ ที่การเจรจาในสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดการยืดเยื้อนั้น เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในนาโตในเรื่องที่ฝ่ายตะวันตกพยายามจะจัดตั้งกองเรือติดอาวุธปล่อยโพลาริส โดยอิงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังพหุภาคี (เอ็มแอลเอฟ) ซึ่งทางฝ่ายสหภาพโซเวียตก็มีจุดยืนว่า หากมีการจัดตั้งระบบดังกล่าวขึ้นมา ก็ถือได้ว่าเป็นการแพร่หลายนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหภาพโซเวียตกลัวว่าเยอรมนีจะมีขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ขึ้นมานั่นเอง การแตกแยกกันในกลุ่มประเทศนาโตนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องยกเลิกโครงการเอ็มแอลเอฟ ซึ่งก็ส่งผลต่อมาให้การเจรจากับสหภาพโซเวียตนำไปสู่การตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้ได้สำเร็จ จุดมุ่งหมายสำคัญ ๆ ของสนธิสัญญานี้ก็คือ (1) เพื่อลดการคุกคามด้วยสงครามนิวเคลียร์ (2) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการคืบหน้าในการหาทางลดกำลังรบนิวเคลียร์ และ (3) เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในทุกรัฐ จุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของสนธิสัญญา คือ ที่ต้องการคงสถานภาพเดิมเอาไว้ กล่าวคือ ในสโมสรนิวเคลียร์ที่เคยมีสมาชิกที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ 5 ชาติก็ขอให้คงจำนวนนี้ไว้ต่อไป ซึ่งก็อาจจะมองไปว่า เป็นจุดมุ่งหมายที่เลือกปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของทุกรัฐนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อมีการเพิ่มสมาชิกในสมาคมนิวเคลียร์เข้ามาในแต่ละครั้งนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มอันตรายของสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากอุบัติเหตุ การคำนวณผิดพลาด หรือการขยายสงคราม แต่ในปัจจุบันนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวกับจำนวนของชาติที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นสมาชิกในสโมสรนิวเคลียร์นี้ ซึ่งคิดประเมินคร่าว ๆ แล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ชาติ ซึ่งชาติต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะมีฐานทางวิทยาศาสตร์ ทางเทคนิค และฐานทางอุตสาหกรรมที่จะสร้างขีดความสามารถทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว หรือจะมีความสามารถในรื่องนี้ในไม่ช้านี้ เราเรียกปัญหาเรื่องนี้ว่า “ ชาติปริศนา ” อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้มีประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพทางอาวุธนิวเคลียร์ในแง่ของเทคโนโลยีและการมีวัตถุแยกนิวเคลียร์แล้ว ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ อิสราเอล บราซิล อียิปต์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี ส่วนชาติอื่น ๆ อีกหลายขาติก็มีขีดความสามารถตามมาติด ๆ อุปสรรคสำคัญทำให้ระบบการควบคุมทำงานไม่ได้ผล ก็คือ มีรัฐที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งไม่ยอมลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ นอกจากสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามแพร่หลายอาวุธนิวเคลียร์นี้แล้ว ก็ยังได้มีความพยายามที่จะจำกัดการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ที่กระทำในรูปของการเจรจาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และการจัดตั้งเขตหรือทวีปที่ปลอดนิวเคลียร์ขึ้นมา

Arms Control : Outer Space Treaty

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาอวกาศ

อนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการห้ามการแข่งขันด้านอาวุธ การแสวงหาความร่วมมือ และการวางกฎเกณฑ์เบื้องต้นของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมอวกาศ สนธิสัญญาอวกาศนี้ ได้รับการยอมรับโดยสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1966 โดยไม่มีเสียงคัดค้าน และได้มีผลบังคับใช้แก่ชาติที่ลงนามจำนวน 84 ชาติ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1967 ตรงกับช่วงที่มีการปล่อยยานอวกาศสปุตนิกของสหภาพโซเวียตครั้งแรกผ่านพ้นไปได้หนึ่งทศวรรษ (10 ปี) บทบัญญัติสำคัญ ๆ ของสนธิสัญญาฉบับนี้มีดังนี้ (1) ห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายขนาดใหญ่ชนิดอื่นเข้าไปในวงโคจรหรือบนดวงจันทร์และบนวัตถุในฟากฟ้าอื่น ๆ (2) ห้ามมีฐานทัพและทำการแสดงแสนยานุภาพทางทหารบนดวงจันทร์และบนดาวดวงอื่น (3) การสำรวจและการใช้ประโยชน์ในอวกาศจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทุกประเทศ (4) ห้ามอ้างอำนาจอธิปไตยในอวกาศ และ (5) สนับสนุนให้มีการร่วมมือในระดับนานาชาติในการสำรวจอวกาศ ในการให้ความช่วยเหลือแก่มนุษย์อวกาศ และยานอวกาศ และในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ความสำคัญ สนธิสัญญาอวกาศนี้ ใช้เวลาเจรจาและถกแถลงกันในสหประชาชาติและในองค์กรลดกำลังรบต่าง ๆ เกือบ 10 ปี จึงสามารถบรรลุถึงข้อตกลงได้ ซึ่งข้อตกลงนี้ได้จำกัดการแข่งขันทางด้านอาวุธ ในอวกาศและเริ่มสร้างกระบวนการทำให้อวกาศอยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาติขึ้นมา สนธิสัญญาฉบับนี้ประกอบด้วยหลักการต่าง ๆ ที่ได้นำไปประกาศไว้ในมติ 6 ข้อของสมัชชาใหญ่ในระหว่างปี ค.ศ. 1958 ถึง ค.ศ. 1963 และหลักการที่ประกาศไว้ในปฏิญญาของสมัชชาใหญ่ปี ค.ศ. 1963 ว่าด้วยหลักการทางกฎหมายที่ใช้ควบคุมกิจกรรมของรัฐต่าง ๆ ในการสำรวจและการใช้อวกาศรอบนอก สนธิสัญญาอวกาศในฐานะที่เป็นมาตรการในการควบคุมอาวุธ ไม่ได้ช่วยขัดขวางการใช้อวกาศเพื่อการทหารในปัจจุบันและในอนาคตมากนัก ยกตัวอย่างเช่น สหภาพโซเวียตได้พัฒนาจรวดพิเศษชนิดหนึ่งสามารถนำอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นไปโคจรอยู่ในวงโคจรของโลกได้ นอกจากนี้แล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ก็กำลังดำเนินการพัฒนายานตรวจสอบทางการทหารเพื่อตรวจจับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับระบบป้องกันของกันและกัน และเนื่องจากสนธิสัญญาฉบับนี้มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบเอาไว้ด้วย ก็จึงอาจเป็นผลก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างมหาอำนาจทางอวกาศ และเป็นการไปกระตุ้นให้แข่งขันกันทางด้านอาวุธในอวกาศมากยิ่งขึ้น

Arms Control : Partial Test Ban Treaty (1963)

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาห้ามการทดลองบางส่วน (ค.ศ. 1963)

สนธิสัญญาที่ลงนามกันที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1963 โดยผู้แทนของบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ซึ่งห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศโลก ในอวกาศ และใต้ผิวน้ำ สนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์ฉบับนี้ อนุญาตให้ทดลองนิวเคลียร์ที่ใต้ดินได้ ตราบเท่าที่การระเบิดนั้นจะไม่ไปทำให้สภาพแวดล้อมเกิดมลพิษด้วยกากปฏิกรณ์นิวเคลียร์นอกเส้นพรมแดนของรัฐที่ทำการทดลองนั้น ในมาตรา 4 แห่งสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้ให้สิทธิแก่แต่ละภาคีสามารถถอนตัวออกจากการเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ได้โดยให้แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือนหากว่า “ มีเหตุการณ์พิเศษ “ มาทำลาย “ ผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ “ สนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้ และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963

ความสำคัญ สนธิสัญญาห้ามทดลอง (นิวเคลียร์) บางส่วนปี ค.ศ. 1963 เป็นมาตรการควบคุมอาวุธมาตรการแรก ที่ได้มีการลงนามกันในด้านอาวุธนิวเคลียร์ในระหว่างยุคของสหประชาชาตินี้ ถึงแม้ว่าประเทศส่วนใหญ่จะให้ภาคยานุวัติในสนธิสัญญานี้ แต่ทว่ามหาอำนาจนิวเคลียร์สำคัญ คือ ฝรั่งเศส และสาธารณรัฐประชาชนจีน กลับมิได้เป็นภาคี ลักษณะของสนธิสัญญาฉบับนี้ที่มีการห้ามทดลองบางส่วนนี่เอง ที่ทำให้ไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเดิม ๆ ที่ให้มีการจัดตั้งระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิผล ทั้งนี้ก็เพราะการทดลองอาวุธ 3 แบบที่สนธิสัญญาฉบับนี้ถือว่าผิดกฎหมายนั้นสามารถตรวจสอบได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ การเจรจาในเรื่องการทดลองนิวเคลียร์ซึ่งยังคงดำเนินอยู่ต่อไปด้วยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุถึงข้อตกลงเพื่อให้มีการห้ามทดลองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปเลยนั้น ยังไม่สามารถบรรลุถึงข้อตกลงได้ ก็เพราะยังมีความกลัวข้อหนึ่งว่า การทดลองที่ใต้ดินสามารถทำได้อย่างลับ ๆ เพราะยังไม่มีระบบการตรวจจับที่มีประสิทธิผลเพียงพอ ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือกลัวว่า สนธิสัญญาห้ามการทดลองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เปรียบขึ้นมา การที่สหรัฐอเมริกาได้คัดค้านสนธิสัญญาห้ามทดลองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้ ก็เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดลองอยู่ต่อไป เพื่อพัฒนาระบบการป้องกันจากขีปนาวุธข้ามทวีปของสหภาพโซเวียตโดยวิธีการพัฒนาโครงการริเริ่มการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (เอสดีไอ) ในช่วงต้น ๆ ของทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ได้มีการแข่งขันทางด้านอาวุธรุนแรงมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ได้มีการพัฒนาอาวุธเชิงรุกใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกด้วย ก็จึงทำให้การเจรจาเพื่อให้บรรลุถึงข้อตกลงห้ามการทดลองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้ ภายใต้บทบัญญัติของสนธิสัญญาห้ามทดลองบางส่วนนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างก็ได้ทำการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินหลายต่อหลายครั้ง และก็มิได้มีการละเมิดบทบัญญัติของสนธิสัญญานี้แต่อย่างใด

Arms Control : Rarotonga Treaty (1987)

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาราโรตองกา (ค.ศ. 1987)

ข้อตกลงที่ได้ประกาศให้ภูมิภาคแปซิฟิกตอนใต้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ สนธิสัญญาราโรตองกานี้ ห้ามการผลิต การใช้ และการทดลองเครื่องมือนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้ ราโรตองกาซึ่งเป็นสถานที่ลงนามของสนธิสัญญาฉบับนี้ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะคุกในแปซิฟิกตอนใต้

ความสำคัญ สนธิสัญญาราโรตองกา ได้ลงนามกันโดยรัฐจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิจิ และสหภาพโซเวียต ส่วนรัฐอื่น ๆ ก็กำลังพิจารณาสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างคร่ำเคร่ง ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ภาคยานุวัติต่อสนธิสัญญาอื่น ๆ ที่กำหนดให้สร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ที่ละติน
อเมริกา ที่ทวีปแอนตาร์กติกา และที่ก้นทะเลลึก แต่กลับปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาราโรตองกานี้ โดยอ้างเหตุผลว่า การแพร่กระจายเขตปลอดนิวเคลียร์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะคุกคามนโยบายป้องปรามนิวเคลียร์ของสหรัฐได้ ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวข้องนั้นก็คือว่า ท่าทีหรือจุดยืนของสหรัฐอเมริกานี้ ได้ส่งผลให้เกิดการล้มเลิกติกาสัญญาแอนซัส เพราะสหรัฐได้คัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ไม่ยอมให้เรือติดอาวุธนิวเคลียร์เข้าแวะเมืองท่าของตน ในทางตรงกันข้าม สหภาพโซเวียตได้รับผลประโยชน์ทางการทูตและการเมืองในภูมิภาคนี้ โดยได้แสดงความจำนงว่าต้องการลงนามในสนธิสัญญาราโรตองกานี้

Arms Control : Rush Bagot Agreement (1817)

การควบคุมอาวุธ : ข้อตกลงรัช - บาคอต (ค.ศ. 1817)

สนธิสัญญาระหว่างบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) กับสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างเขตปลอดทหารที่พรมแดนสหรัฐ - แคนาดา และที่ทะเลสาบเกรทเลกชั่วกัลปาวสาน ข้อตกลงรัช - บาคอตนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสันติภาพในสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1812 ในข้อตกลงนี้ได้อนุญาตให้แต่ละประเทศสามารถนำเรือเข้าไปในเกรทเลกนี้ได้ ก็เฉพาะเรือรบที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนและตรวจสอบทางศุลกากรเท่านั้น แต่แรกนั้นสนธิสัญญานี้ได้ลงนามกันเมื่อ ค.ศ. 1817 โดยเป็นข้อตกลงของฝ่ายบริหาร และได้รับการเห็นชอบว่าเป็นสนธิสัญญาในปีต่อมา

ความสำคัญ ข้อตกลงรัช - บาคอตนี้ ยังคงเป็นข้อตกลงลดกำลังรบที่เก่าแก่และที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่เคยได้มีการเจรจากันมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นข้อตกลงที่ห้ามการแข่งขันกำลังทางเรือเพื่อครองความยิ่งใหญ่ในเกรทเลก และเป็นการสร้างเสถียรภาพให้แก่พรมแดนระหว่างแคนาดากับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้แล้ว ข้อตกลงรัช - บาคอตนี้ ก็ยังได้ให้การสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์อันดีทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมระหว่างสองชาติในอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกาและแคนาดานี้

Arms Control : Seabed Treaty

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาพื้นท้องทะเล

ข้อตกลงเมื่อปี ค.ศ. 1971 ว่าด้วยการห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายขนาดใหญ่อื่น ๆ เข้าไปไว้ที่พื้นท้องมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลก นอกน่านน้ำอาณาเขต 12 ไมล์ของแต่ละรัฐ สนธิสัญญานี้มีชื่อเป็นทางการว่า สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่พื้นท้องทะเล ได้รับการเห็นชอบโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในการประชุมครั้งที่ 25 เมื่อปี ค.ศ. 1970 และได้เปิดให้มีการลงนามและให้สัตยาบันเมื่อปี ค.ศ. 1971 ชาติต่าง ๆ เกือบทั่วโลกได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญานี้รวมทั้ง 3 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ซึ่งทั้งสามชาตินี้ได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญานี้ด้วยแล้ว

ความสำคัญ สนธิสัญญาพื้นท้องทะเลนี้ ได้ไปช่วยเสริมสนธิสัญญาต่าง ๆ ฉบับก่อนหน้านี้ ที่มีจุดมุ่งหมายมิให้นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในทวีปแอนตาร์กติกา (ค.ศ. 1959) มิให้นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในอวกาศรอบนอก (ค.ศ. 1967) และมิให้นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในละตินอเมริกา (ค.ศ. 1967) อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาฉบับนี้มีจุดอ่อนอยู่ที่มิได้ห้ามการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ภายในเขตต่อเนื่อง 12 ไมล์ นอกชายฝั่งของรัฐนั้น ๆ สหรัฐอเมริกาเมื่อได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญพื้นท้องทะเลนี้แล้ว ก็ได้ตกลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่จะยกเลิกอาณาเขตสามไมล์แบบเดิมไปเป็นการให้ความเห็นชอบอาณาเขตสิบสองไมล์ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ยังมีจุดอ่อนตรงที่สองรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ คือ ฝรั่งเศส และจีน มิได้เข้าร่วมในกระบวนการสนธิสัญญาหรือว่าลงนามในเอกสารที่สมบูรณ์แบบ นอกจากนั้นแล้ว นักวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังได้กล่าวหาว่า สนธิสัญญาฉบับนี้มิได้มีประโยชน์มากมายอะไร เพราะว่าทั้งสองอภิมหาอำนาจมิได้มีความประสงค์จะนำเอาอาวุธทำลายขนาดใหญ่เข้าไปไว้ในที่พื้นท้องทะเลอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายผู้ถือหางให้การสนับสนุนได้ชี้แจงว่า สนธิสัญญานี้จะไปช่วยคอยตรวจสอบการแข่งขันทางด้านอาวุธที่พื้นท้องทะเลนั้นก่อนที่เรื่องจะเกิดขึ้นมาจริง ๆ ถึงแม้ว่าสนธิสัญญานี้จะห้ามการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่พื้นท้องทะเลของมหาสมุทรทั้งหลาย ทั่วโลก แต่เรือดำน้ำและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ทะเลแต่มิได้ใช้พื้นท้องทะเลก็ยังได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการได้โดยเสรีภายใต้บท บัญญัติของสนธิสัญญาฉบับนี้

Strategic Arms Limitation Talks (SALT)

การเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (ซอลท์)

การเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงข้อตกลงในเรื่องการควบคุมอาวุธยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ ระบบส่งและระบบอาวุธทั้งเชิงรุกและเชิงรับที่เกี่ยวข้อง การเจรจาซอลท์นี้ได้เริ่มเป็นครั้งแรกที่กรุงเฮลซิงกิเมื่อปี ค.ศ. 1969 โดยจุดมุ่งหมายในตอนเริ่มแรกนั้น ก็คือ เพื่อจำกัดหรือเพื่อขจัดการสร้างระบบต่อต้านขีปนาวุธ (เอบีเอ็ม) ซึ่งทั้งสองประเทศนี้กำลังวางแผนกันอยู่ในเวลานั้น การเจรจากันในช่วงต่อมา ครอบคลุมไปถึงระบบอาวุธทางยุทธศาสตร์ทั้งหมด รวมทั้งห้ามการทดลองนิวเคลียร์ในรูปแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ การจำกัดจำนวนของระบบส่งนิวเคลียร์บางประเภท การจำกัดยานกลับสู่โลกแยกลงหลายเป้าหมายโดยอิสระ (เอ็มไออาร์วี) การจำกัดการสร้างฐานต่อต้านขีปนาวุธเอบีเอ็ม และการระวังสงครามจำกัดไม่ให้กลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ในการเจรจากันในช่วงแรก ๆ (ซอลท์วัน ระหว่าง ค.ศ. 1969 - 1972) สามารถบรรลุข้อตกลงให้จำกัดจำนวนระบบป้องกันไอบีเอ็มให้แต่ละประเทศมีแค่สองระบบเท่านั้น แต่ในการตกลงในครั้งที่ 2 การเจรจาซอลท์วันนี้ ก็ยังได้จำกัดจำนวนของระบบส่งอาวุธปล่อยที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับจำนวนของหัวรบนิวเคลียร์ในอาวุธปล่อยแต่ละลูก (เอ็มไออาร์วิง) ส่วนแนวทางของการเจรจาซอลท์ทูได้เริ่มดำเนินการในที่ประชุมสุดยอดระหว่างนิกสันกับเบรสเนฟที่กรุงวอชิงตัน เมื่อปี ค.ศ. 1973 แนวปฏิบัติในข้อตกลงซอลท์ทูนี้ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงกันดังนี้ คือ (1) กำหนดขอบเขตของจำนวนถาวรเกี่ยวกับกำลังทางยุทธศาสตร์เชิงรุก (2) ควบคุมปัจจัยเชิงคุณภาพในคลังแสงอาวุธเชิงรุกของแต่ละฝ่าย และ (3) ในขั้นสุดท้ายนั้นให้มีการลดกำลังทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่าย เมื่อถึงปี ค.ศ. 1979 สนธิสัญญาซอลท์ทูที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมอาวุธรวมอยู่ด้วยนั้น ก็ได้ลงนามกันที่กรุงเวียนนา โดยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีลีโอนิด เบรสเนฟ แห่งสหภาพโซเวียต และต่อจากนั้นประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ก็ได้เสนอให้วุฒิสภาสหรัฐฯให้ความเห็นชอบในการให้สัตยาบัน อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาซอลท์ทูมีอันเป็นหมัน เมื่อประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้ถอนสนธิสัญญานี้ออกจากการพิจารณาของวุฒิสภา ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนก็มิได้นำเรื่องนี้เสนอต่อวุฒิสภาอีกเลย ประธานาธิบดีเรแกนได้เรียกชื่อการเจรจาในอนาคตเสียใหม่ว่า การเจรจาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (สตาร์ท) ถึงแม้ว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจะมิได้ให้สัตยาบันเป็นทางการ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ยอมรับอย่างไม่เป็นทางการว่าจะเคารพในบทบัญญัติของสนธิสัญญาซอลท์ทูนี้

ความสำคัญ ข้อตกลงซอลท์วัน และสนธิสัญญาซอลท์ทูนี้ เป็นผลผลิตของช่วงผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสองอภิมหาอำนาจ แต่เมื่อสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานปี ค.ศ. 1979 เข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซงในทวีปแอฟริกาและในทวีปเอเชีย กับได้เสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งของการแข่งขันอาวุธในทุกรูปแบบ ความผ่อนคลายความตึงเครียดก็ได้ยุติลงและเปิดทางให้แก่การริเริ่มใหม่ของสหรัฐอเมริกา การริเริ่มใหม่ที่ว่านี้ ก็คือ ได้มีการรื้อฟื้นการควบคุมการส่งสินค้าไปขายในสหภาพโซเวียต มีการบอยคอตการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงมอสโกเมื่อปี ค.ศ. 1980 และมีการเน้นย้ำใหม่ให้สร้างสถานะทางทหารของสหรัฐให้ทัดเทียมหรือให้เหนือกว่าของสหภาพโซเวียต เพราะผลของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้โอกาสที่วุฒิสภาสหรัฐจะให้ความเห็นชอบในการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาซอลท์ทูลดน้อยถอยลงไปมาก ถึงแม้ว่าข้อตกลงซอลท์วันและสนธิสัญญาซอลท์ทูจะมิได้รับการยอมรับว่าเป็นปฏิบัติการในการควบคุมอาวุธที่สำคัญใด ๆ ก็ตาม แต่ทั้งสองอย่างนี้ก็ถือได้ว่าได้ทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่มีประโยชน์ยิ่งในการควบคุมในสิ่งที่เรียกว่าระบบความเชื่อในการทำลายร่วมกัน (แมด) จุดมุ่งหมายสำคัญของสนธิสัญญานี้ที่บอกไว้ว่า เพื่อหาทางจำกัดระบบอาวุธมหาประลัยที่สำคัญ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านอาวุธมิให้เลยเถิดเตลิดไปกันใหญ่นั้น ยังคงไม่สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ ฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้กล่าวหาสหภาพโซเวียตว่าละเมิดบทบัญญัติของข้อตกลงซอลท์วันและซอลท์ทู ดังนี้ (1)ได้ทำการติดตั้งเรดาร์ขนาดใหญ่ไว้ที่ กราสนอยาร์สก์ เป็นเรดาร์เตือนภัยในพื้นที่ที่ห้ามไว้โดยสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธซอลท์วัน (2) อาวุธปล่อยเอสเอส-25 ของสหภาพโซเวียตเป็นไอซีบีเอ็มแบบใหม่ เป็นการละเมิดสนธิสัญญาซอลท์ทู ส่วนฝ่ายโซเวียตได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาว่า (1) ระบบเดาร์ที่กราสนอยาร์สก์นั้นเป็นเรดาร์ตรวจสอบอวกาศ จึงมิได้เป็นการละเมิดสนธิสัญญาเอบีเอ็ม และ (2) อาวุธปล่อยเอสเอส-25 นั้นเป็นเพียงอาวุธปล่อยที่ดัดแปลงจากอาวุธปล่อยเอสเอส-13 แบบเดิมเท่านั้นเอง มิใช่อาวุธปล่อยที่พัฒนาขึ้นมาใหม่แต่อย่างไร จึงมิได้ละเมิดสนธิสัญญาซอลท์ทู

Arms Control : Treaty for the Prohibition of Nuclear Weapons in Latin America

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในละติน อเมริกา

ข้อตกลงที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สนธิสัญญาทราตีลอลโก ซึ่งได้สร้างเขตปลอดนิวเคลียร์(เอ็นดับเบิลยูเอฟเซส)ในละตินอเมริกา สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในละตินอเมริกานี้ ได้มีการลงนามกันที่นครเม็กซิโกซิตี้เมื่อ ค.ศ. 1967 เมื่อถึงปี ค.ศ. 1980 สนธิสัญญานี้ได้มีการลงนามโดยประเทศในแถบละตินอเมริกาจำนวน 25 ประเทศ และได้มีการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้กับชาติต่างๆ รวม 22 ชาติด้วยกัน มีพิธีสาร 2 ฉบับอันเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาหลัก กล่าวคือ พิธีสารที่ 1 นำไปใช้กับรัฐต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์ทางดินแดนในทวีปอเมริกาและพิธีสารที่ 2 ให้รวมถึงรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทุกรัฐ โดยทุกรัฐได้ถูกห้ามจากสนธิสัญญาฉบับนี้ มิให้นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคส่วนนี้ รวมทั้งได้ห้ามมหาอำนาจต่างประเทศนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปไว้ในฐานทัพของตนในละตินอเมริกานี้ด้วย ครั้นถึง ค.ศ. 1980 มหาอำนาจนิวเคลียร์สำคัญทุกชาติ กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ฝรั่งเศส และจีน ได้ยอมรับพิธีสารที่ 2 นี้ สนธิสัญญาได้จัดตั้งกลไกปฏิบัติการสำหรับตรวจสอบการบังคับใช้บทบัญญัติของสัญญานี้ที่เรียกย่อว่า โอพีเอเอ็นเอแอล (องค์การห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในละตินอเมริกา)

ความสำคัญ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ในละตินอเมริกานี้เป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก ในการสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ในภูมิภาคทางภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งที่ดำเนินการโดยประเทศทั้งหลายในภูมิภาคแห่งนั้นเอง ถึงแม้ว่าชาติส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคนี้จะได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาและพิธีสาร 2 ฉบับของสนธิสัญญานี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีประเทศสำคัญในละตินอเมริกาบางประเทศที่กำลังพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ กล่าวคือ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และคิวบา ล้วนแต่ยังไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างเต็มที่ วิธีปฏิบัติที่ได้นำมาใช้ในการสร้างภูมิภาคนี้ให้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ อาจจะมีประโยชน์ในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ ดังมีตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1987 สนธิสัญญาราโรตองกาซึ่งอาศัยต้นแบบจากสนธิสัญญาละตินอเมริกา วางจุดมุ่งหมายเพื่อประกาศให้ภูมิภาคแปซิฟิกตอนใต้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ สนธิสัญญาราโรตองกามีข้อห้ามมิให้ผลิต ใช้ และทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคส่วนนี้ แต่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเรแกน ได้คัดค้านสนธิสัญญาราโรตองกานี้ และข้อเสนอให้สร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ในคาบสมุทรบอลข่านและคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย เพราะกลัวว่าข้อเสนอเหล่านี้จะไปลดความแข็งแกร่งในยุทธศาสตร์การป้องปรามนิวเคลียร์ของฝ่ายตน

Arms Control : Washington Treaty for the Limitation of Naval Armaments (1922)

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญากรุงวอชิงตันว่าด้วยการจำกัดกำลังรบทางเรือ (ค.ศ. 1922)

ข้อตกลงที่ได้บรรลุในที่ประชุมจำกัดกำลังรบทางเรือที่กรุงวอชิงตันระหว่างปี ค.ศ. 1921 - 1922 โดยมหาอำนาจทางทะเลชั้นนำ เพื่อจำกัดขนาดและการสร้างเรือรบขนาดใหญ่ กับวางข้อกำหนดเกี่ยวกับอัตราส่วนของอำนาจทางเรือในห้วงเวลา 20 ปี สนธิสัญญากรุงวอชิงตันฉบับนี้ ได้บัญญัติไว้ว่า (1) เรือประจัญบานจะถูกจำกัดให้มีระวางขับน้ำไม่เกิน 35,000 ตันและให้ติดอาวุธปืนประจำเรือได้ไม่เกินขนาด 16 นิ้ว ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินนั้นก็ถูกจำกัดให้มีระวางขับน้ำไม่เกิน 27,000 ตัน (2) การสร้างเรือใหม่ ๆ ในชั้นนี้ ห้ามมิให้สร้างขึ้นมาภายในระยะเวลา 10 ปี (3) เรือรบขนาดใหญ่ที่นำมาทดแทนเรือเดิมในช่วงหลังปี ค.ศ. 1931 จะต้องใช้อัตราส่วนของปี ค.ศ. 1942 ดังนี้คือ : บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) 5, สหรัฐอเมริกา 5, ญี่ปุ่น 3, ฝรั่งเศส 1.67 และอิตาลี 1.67 และ (4) ประเทศภาคีร่วมลงนามจะต้องจำกัดฐานทัพเรือ และป้อมปราการต่าง ๆ ในพื้นที่แปซิฟิก แต่ความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงในที่ประชุมเพื่อจำกัดเรืออื่น ๆ เช่น เรือดำน้ำ เรือลาดตระเวน และเรือพิฆาตไม่ได้รับฉันทามติ

ความสำคัญ สนธิสัญญาทางเรือกรุงวอชิงตันนี้ เป็นตัวอย่างที่หาได้ยากของข้อตกลงโดยมหาอำนาจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมอาวุธ สนธิสัญญาฉบับนี้เริ่มมาจากความต้องการที่จะหาวิธีการงดเว้นการแข่งขันทางด้านอาวุธทางเรือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สร้างความสิ้นเปลืองอย่างมหาศาลระหว่างมหาอำนาจผู้ชนะสงคราม ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาจะต้องยึดมั่นในนโยบายมีเรือรบขนาดใหญ่ที่มีระวางขับน้ำเท่าเทียมกับอังกฤษตามที่สนธิสัญญากำหนดไว้แล้วนั้น แต่แทนที่สหรัฐจะดำเนินโครงการแข่งขันสร้างเรือที่จะต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปมากมายนั้น สหรัฐก็ได้หันไปใช้วิธีแสวงหาข้อตกลงเพื่อหาทางปรับแต่งสนธิสัญญานี้จนสามารถสร้างความเท่าเทียมกันในด้านเรือรบขนาดใหญ่กับอังกฤษได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาฉบับนี้มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบและการบังคับใช้บทบัญญัติต่าง ๆ เอาไว้ จึงทำให้ต่อมาชาติผู้ลงนามทุกชาติต่างไม่เคารพในเจตจำนงและในตัวบทของข้อตกลงนี้ และได้หันไปดำเนินโครงการแข่งขันกันสร้างเรือในชั้นต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย และในที่สุดสนธิสัญญานี้ก็ได้รับการกระทบอย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 เมื่อเยอรมนีผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและได้มีวิวัฒนาการเกิดเป็นดุลอำนาจโลกใหม่ขึ้นมา แต่จากประสบการณ์ของสนธิสัญญาทางเรือกรุงวอชิงตันฉบับนี้บ่งบอกให้เราได้รู้ว่า ข้อตกลงของมหาอำนาจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมอาวุธอย่างจำกัดเฉพาะด้านนี้เป็นเรื่องที่เปราะบางมากและพร้อมที่จะถึงแก่การถูกยกเลิก เมื่อมีการแข่งขันทางด้านอาวุธชนิดอื่น และเมื่อมีการขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น อันเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของผู้ลงนามในสนธิสัญญานั้น

Disarmament Problem : Enforcement

ปัญหาการลดกำลังรบ : การบังคับใช้

การจัดตั้งกลไกที่จะมาวางข้อกำหนดและดำเนินการเกี่ยวกับทางบังคับเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงการลดกำลังรบ หน้าที่ในการบังคับใช้นี้ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการตรวจสอบ เพราะว่าการตรวจสอบว่ามีการละเมิดข้อตกลงหรือไม่นี้ จะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับผลทางการเมืองและทางการทหารติดตามมาได้ ในการจัดตั้งระบบการบังคับใช้เกี่ยวกับการลดกำลังรบนี้ ปัญหาที่น่าจะนำมาพิจารณามีดังนี้ คือ (1) องค์ประกอบ อำนาจ และวิธีปฏิบัติขององค์การบังคับใช้นี้ควรจะเป็นอย่างไรบ้าง (2) การกระทำแบบใดบ้างจึงจะเรียกว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง (3) ควรจะใช้บทลงโทษหรือทางบังคับอะไรบ้างต่อผู้ที่ละเมิดข้อตกลง (4) รัฐที่สูญเสียประโยชน์ในทางความมั่นคงอันเกิดจากการละเมิดข้อตกลงนั้นควรจะมีสิทธิดำเนินมาตรการฝ่ายเดียวเพื่อให้ดุลอำนาจกลับคืนมาได้หรือไม่ และ (5) ควรจะให้มีการใช้อำนาจยับยั้ง เมื่อมีการตัดสินใจใช้ทางบังคับกับผู้ละเมิดข้อตกลงหรือไม่

ความสำคัญ ข้อตกลงลดกำลังรบที่ดีนั้นจะต้องมีข้อกำหนดให้มีปฏิบัติการบังคับใช้ เพื่อความมีประสิทธิผลไร้ข้อโต้แย้งใด ๆ ในระหว่างหรือหลังดำเนินการตามกระบวนการลดกำลังรบ เพราะว่าจะไม่มีรัฐใดทนเห็นการละเมิดข้อตกลงทั้งละเมิดจริงหรือไม่จริงก็ตามแต่ที่จะเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของตน โดยที่ไม่มีระบบตรวจสอบและลงโทษผู้ละเมิดที่น่าเชื่อถือได้เป็นแน่ ในช่วงหลังปี ค.ศ. 1962 ในข้อเสนอต่าง ๆ ของทั้งสหภาพโซเวียตและของสหรัฐอเมริกาที่ให้มีการลดกำลังรบแบบทั่วไปและสมบูรณ์นั้น ก็ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์การลดกำลังรบระหว่างประเทศ (ไอดีโอ) ขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบและบังคับใช้ในกระบวนการลดกำลังรบนั้น แต่ก็ไม่สามารถบรรลุถึงข้อตกลงในส่วนที่ว่าทำอย่างไรการบังคับใช้นี้จะสามารถดำเนินการภายใต้การรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้หากมีการละเมิดข้อตกลงเกิดขึ้นมา

Disarmament Problem : Inspection

การลดกำลังรบ : การตรวจสอบ

การจัดตั้งกลไกที่จะคอยตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามหรือตรวจจับว่ามีการละเมิดสนธิสัญญาลดกำลังรบหรือไม่ ในการเจรจาในเรื่องระบบการตรวจสอบนี้ จะมีปัญหาต่าง ๆ ให้ต้องหาคำตอบดังนี้ คือ (1) การตรวจสอบนี้ควรจะดำเนินการโดยหน่วยงานในระดับชาติหรือในระดับนานาชาติดี (2) การตรวจสอบเข้าไปในดินแดนของแต่ละประเทศนั้นจะทำได้มากน้อยขนาดไหน (3) จะใช้การตรวจสอบในรูปแบบใด (4) ห้วงเวลาในการตรวจสอบจะทำบ่อยขนาดไหน (5) จะให้อำนาจแก่คณะผู้ตรวจสอบขนาดไหน (6) การกระทำแบบใดบ้างถึงจะเป็นการละเมิดข้อตกลงการลดกำลังรบ

ความสำคัญ การตรวจสอบนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของข้อตกลงกำลังรบใด ๆ เพราะว่าความมั่นคงของผู้เข้าร่วมในข้อตกลง จะขึ้นอยู่กับการยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงของทุกประเทศผู้เข้าร่วม ยกตัวอย่างเช่น ความล้มเหลวในขั้นสุดท้ายของสนธิสัญญาจำกัดกำลังรบทางเรือกรุงวอชิงตันปี ค.ศ. 1932 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะจำกัดกำลังรบทางเรือนั้น ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการไม่มีระบบการตรวจสอบการละเมิด ซึ่งส่งผลให้มีการละเมิดจากฝ่ายหนึ่งแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็ละเมิดตามกันไป ระบบการตรวจสอบกิจกรรมของรัฐอื่นในระดับชาติที่มีประสิทธิผล ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยสนธิสัญญาแอนตาร์กติกปี ค.ศ. 1959 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการทำให้ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นเขตปลอดทหาร แผนการลดกำลังรบระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก 2 แผนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมานั้น ได้มีบทบัญญัติให้มีการตรวจสอบในระดับระหว่างประเทศนี้ไว้ด้วย ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้ย้ำนักย้ำหนาในเรื่องการตรวจสอบนี้ โดยบอกว่าจะต้องมีการจัดตั้งระบบการตรวจสอบในระดับนานาชาติที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างแท้จริงก่อนที่จะได้มีการลดกำลังรบใด ๆ ซึ่งท่าทีนี้ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตได้กล่าวหาว่า เป็นท่าทีที่ชี้นำโดยแผนจารกรรมของสหรัฐ เมื่อ ค.ศ. 1979 ทางการสหรัฐได้ประกาศว่า สหภาพโซเวียตได้ตกลงยินยอมให้ติดตั้งสถานีตรวจสอบแผ่นดินไหวจำนวนสิบแห่งในพรมแดนของตน เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสนธิสัญญาห้ามการทดลองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (ซีทีบี) แต่ในเรื่องให้มีการตรวจสอบสถานที่ตั้งเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงลดกำลังรบแบบทั่วไปและสมบูรณ์นั้นไม่สามารถตกลงกันได้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายที่เจรจากันในเรื่องลดกำลังรบกันอยู่นี้ได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์การลดกำลังรบระหว่างประเทศ (ไอดีโอ) ขึ้นมา โดยจะทำหน้าที่ภายใต้การควบคุมของสหประชาชาติ และจะให้สามารถ “เข้าไปตรวจสอบได้ในทุกสถานที่ที่เห็นว่ามีความจำเป็นโดยใครไม่มีสิทธิคัดค้าน ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิผล” อย่างไรก็ดี แต่ละฝ่ายต่างก็ได้ยืนยันว่า จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการจัดตั้งองค์การไอดีโอนี้ให้ได้เสียก่อน ได้มีการยื่นข้อเสนอหลายครั้งให้มีการจัดตั้งองค์การตรวจสอบในระดับนานาชาติที่มีประสิทธิผลในการทำงานขึ้นมาในช่วงประวัติศาสตร์ของระบบรัฐในยุคนี้ แต่ข้อเสนอเหล่านั้นมีอันต้องล้มเหลวลงทุกที เพราะความกลัว ความไม่ไว้ใจกัน และความหวาดระแวงกัน ที่แฝงอยู่ในแนวความคิดเรื่องอธิปไตยของรัฐ และแนวความคิดในเรื่องชาตินิยม

Disarmament Problem : Ratio Problem

ปัญหาลดกำลังรบ : ปัญหาสัดส่วนหรืออัตราส่วน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเจรจาลดกำลังรบ เกี่ยวกับตารางในการลดกำลังรบ การจำแนกประเภทของกำลังและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพทางกำลังในอนาคตของชาติที่เข้าร่วมลดกำลังรบ ปัญหาในเรื่องสัดส่วนหรืออัตราส่วนนี้ สามารถแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ หากว่าทุกรัฐที่มาเกี่ยวข้องกับการเจรจาในข้อตกลงลดกำลังรบ สามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้ว่า ความมั่นคงของทุกรัฐที่เข้ามาร่วมด้วยนี้ จะไม่เป็นอันตรายจากการเกิดการเสียภาวะสมดุลในอาวุธต่าง ๆ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการลดกำลังรบนี้

ความสำคัญ ปัญหาในเรื่องอัตราส่วนหรือสัดส่วนนี้เป็นปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่ผู้เจรจาลดกำลังรบจะต้องได้พบ เพราะว่ามันจะเกี่ยวโยงไปถึงการสร้างสมดุลระหว่างกำลังประเภทต่าง ๆ (เช่น กำลังทางบกกำลังทางอากาศ กับกำลังทางเรือ กำลังทางนิวเคลียร์ กับกำลังตามแบบ) ตลอดจนถึงเรื่องอาวุธที่จะต้องถูกทำลาย และอาวุธที่จะให้คงไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตได้ใช้ความพยายามมานานหลายปีเพื่อจะค้นหาสูตรสำเร็จ แต่จนแล้วจนรอดก็หาสูตรสำเร็จนี้ไม่พบ สูตรสำเร็จที่ว่านี้จะนำมาใช้กำหนดจำนวนและประเภทของกำลังต่าง ๆ ที่จะนำมาลดกันในขั้นตอนต่าง ๆ และที่จะมาใช้กำหนดในเรื่องของอัตราส่วนหรือสัดส่วนของกำลังที่จะให้มีการคงไว้นั้นด้วย ความลำบากที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องสัดส่วนนี้ ก็คือ แต่ละฝ่ายไม่สามารถรู้ขนาดที่แท้จริงของหน่วยกำลังรบของชาติอื่น ตลอดจนถึงอาวุธต่าง ๆ ที่หน่วยกำลังรบเหล่านั้นครอบครองอยู่ เมื่อปี ค.ศ. 1987 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้บรรลุข้อตกลงให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธปล่อยนิวเคลียร์พิสัยปานกลางและพิสัยใกล้ออกไปจากยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตก ฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า หากทำเช่นนี้ ฝ่ายสหรัฐฯจะเสียเปรียบทางด้านการทหาร เนื่องจากว่า สหภาพโซเวียตมีกองกำลังตามแบบในยุโรปในอัตราส่วนที่ได้เปรียบฝ่ายของนาโตอยู่

Disarmament Proposal : Atoms for Peace Plan

ข้อเสนอลดกำลังรบ : แผนใช้ปรมาณูเพื่อสันติ

ข้อเสนอของประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. โอเซนฮาว แห่งสหรัฐอเมริกา ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 8 เมื่อปี ค.ศ. 1953 กำหนดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐที่มีนิวเคลียร์และชาติอื่น ๆ ในการพัฒนาและใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ แผนใช้ปรมาณูเพื่อสันตินี้ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศภายใต้การกำกับของสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันในด้านปรมาณู และแผนนี้ก็ยังได้เรียกร้องให้รัฐมีนิวเคลียร์ทั้งหลายหันเหการใช้วัสดุแยกปรมาณูจากการผลิตอาวุธปรมาณูเก็บไว้ในคลังแสงมาใช้ประโยชน์ในโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสันติ

ความสำคัญ แผนใช้ปรมาณูเพื่อสันตินี้ ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเสนอขึ้นมาเป็นโครงการใหม่ล่าสุดตอนนั้นเพื่อช่วยยับยั้งการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์และผ่าทางตันในการเจรจาลดกำลังรบ ถึงแม้ว่าจุดประสงค์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแผนนี้จะยังไม่ทำให้เป็นจริงขึ้นมาทั้งหมด แต่ข้อเสนอในแผนนี้ก็ได้บรรลุถึงเป้าหมายที่จำกัดเหมือนกัน คือ ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาพลังปรมาณูเพื่อสันติ จนถึงขั้นได้มีการจัดตั้งองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1957 จุดมุ่งหมายหลักขององค์การไอเออีเอนี้ ก็คือ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีการตรวจสอบและวางระเบียบเกี่ยวกับการถ่ายโอนวัสดุแยกปรมาณูเพื่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เปลี่ยนแปลงวัตถุเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทางด้านอาวุธ

Disarmament Proposal : Baruch Plan

ข้อเสนอลดกำลังรบ : แผนบารุช

ข้อเสนอให้มีการควบคุมและลดกำลังรบนิวเคลียร์ ที่เสนอโดยสหรัฐอเมริกาต่อคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1946 แผนที่ว่านี้ซึ่งมีรากฐานมาจากคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษ (รายงานอาชีสัน - ลิเลียนทัล) ได้นำเสนอโดยรัฐบุรุษอาวุโส เบอร์นาร์ด บารุช โดยถือว่าเป็นข้อเสนออย่างเป็นทางการของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เลิกผูกขาดอาวุธปรมาณู โดยการกำกับของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ ประเด็นใหญ่ ๆ ในแผนบารุชมีดังนี้คือ (1) ให้มีการจัดตั้งองค์การพัฒนาปรมาณูระหว่างประเทศเพื่อควบคุมในทุกขั้นตอนของการพัฒนาและการใช้พลังงานนิวเคลียร์ (2)ให้อำนาจอย่างไม่จำกัดแก่องค์การนี้เพื่อคอยสอดส่องมิให้มีการละเมิดข้อตกลง (3) ให้มีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อการละเมิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุเครื่องแยกตัวปรมาณูนี้ไปพัฒนาอาวุธ (4) ให้เลิกผลิตอาวุธปรมาณูและให้ทำลายอาวุธปรมาณูที่เก็บไว้ในคลังแสงเสียทั้งหมด หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งองค์การที่ว่านี้ขึ้นมาแล้ว และ (5) ให้เปลี่ยนแปลงระบบการออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงเสียใหม่ เพื่อมิให้มีการใช้อำนาจยับยั้งในการป้องกันการลงโทษแก่ผู้ละเมิด

ความสำคัญ แผนบารุชเพื่อลดกำลังรบและควบคุมปรมาณูนี้ ถึงแม้ว่าจะถูกปฏิเสธจากสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1946 แต่ก็ยังคงช่วยให้ข้อมูลที่สำคัญหลายอย่างที่ได้มีการนำไปใช้ในข้อเสนอลดกำลังรบนิวเคลียร์ของสหรัฐในช่วงเวลาต่อมา ที่สหภาพโซเวียตปฏิเสธแผนบารุชนี้ก็โดยที่อ้างว่า หากมีการนำแผนนี้มาบังคับใช้ สหรัฐอเมริกาก็จะเป็นชาติเดียวที่มีขีดความสามารถในการผลิตอาวุธปรมาณู และว่า สหรัฐอเมริกาครอบงำกระบวนการตัดสินใจในสหประชาชาติ เมื่อมีการจัดตั้งองค์การพัฒนาปรมาณูระหว่างประเทศขึ้นมา สหรัฐก็จะพลอยควบคุมองค์การนี้ไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นแล้วสหภาพโซเวียตในช่วงเวลานั้นกำลังดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตอาวุธปรมาณูอยู่ ซึ่งก็ได้ส่งผลให้มีการทดลองระเบิดอุปกรณ์ปรมาณูเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1949 ที่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตมีข้อโต้แย้งกันในบทบัญญัติของแผนบารุช ก็คือ ไม่สามารถตกลงกันได้ (1) ในเรื่องกำหนดเวลาในการตรวจสอบและควบคุม (2) ในเรื่องพัฒนาพลังงานปรมาณูในระดับชาติและในระดับนานาชาติ และ (3) ในเรื่องอำนาจขององค์การที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุม ครั้นวันเวลาผ่านไปหลายปี ประเด็นที่ตกลงกันยังไม่ได้เหล่านี้ก็ได้ลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ กระนั้นก็ดี ข้อตกลงเรื่องการลดกำลังรบนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติอยู่ต่อไป

Disarmament Proposal : Denuclearization

ข้อเสนอลดกำลังรบ : การสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์

ข้อตกลงห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในเขต ในประเทศ หรือในภูมิภาคแห่งใดแห่งหนึ่งที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ การทำให้พื้นที่ต่าง ๆ เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์นี้ ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางมากว่าหนึ่งทศวรรษ ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในคณะกรรมาธิการและคณะกรรมการลดกำลังรบ และในองค์การในระดับนานาชาติและระดับชาติต่าง ๆ แต่ก็มีเพียง 5 เขตเท่านั้นที่สนธิสัญญาสามารถจัดตั้งเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ได้สำเร็จ คือ (1) ที่ทวีปแอนตาร์กติกา (2) ที่พื้นท้องทะเล (3) ที่ละตินอเมริกา (4) ที่แปซิฟิกตอนใต้ และ (5) ที่อวกาศ ในการถกแถลงกันในสหประชาชาติว่าด้วยการสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์นี้ต้องการจะให้ขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่มหาสมุทรอาร์กติก ช่องแคบแบริ่ง ทะเลเอเดรียติก คาบสมุทรบอลข่าน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง และ คาบสมุทรสแกนดิเนเวีย แต่มติ แผน และข้อเสนออย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่แอฟริกา ยุโรปตอนกลาง และละตินอเมริกา

ความสำคัญ การจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นมาตรการลดกำลังรบบางส่วนและมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องมือควบคุมอาวุธอย่างอื่นอยู่ด้วย เป็นต้นว่า (1) สนธิสัญญาห้ามการแพร่กระจายนิวเคลียร์ (2) การห้ามทดลองนิวเคลียร์ในแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และ (3) การจำกัดการผลิตวัสดุแยกปรมาณูในระดับเอาไปทำอาวุธได้ การจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์นี้ ไดัรับการสนับสนุนในหลักการจากทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสหภาพโซเวียต รวมทั้งจากพันธมิตรผู้ถือหางของแต่ละฝ่ายนั้นด้วย นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายสหภาพโซเวียตก็ยังได้สนับสนุนข้อเสนอต่าง ๆ ของนายอดัม ราพาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1957 และข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี วลาดิสลอว์ โคมุลกา เมื่อปี ค.ศ. 1964 ที่ให้มีการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรปตอนกลาง สำหรับแผนของนายราพาคีนั้นได้เรียกร้องให้จัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์และให้มีการลดกำลังภาคปกติไปพร้อม ๆ กันในเยอรมนีทั้งฟากตะวันตกและฟากตะวันออก ในเชโกสโลวะเกีย และในโปแลนด์ ขณะเดียวกันนั้น แผนโคมุลกาก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะเอาชนะข้อโต้แย้งของฝ่ายตะวันตกต่อแผนในครั้งก่อน ๆ โดยกำหนดให้คงอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้ไว้เหมือนเดิมในทุกระดับ ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกได้ปฏิเสธข้อเสนอของโปแลนด์และแผนอื่น ๆ โดยอ้างเหตุผลว่า ความมั่นคงปลอดภัยจากสงครามนิวเคลียร์ควรจะแสวงหาด้วยวิธีดังต่อไปนี้ (1) ด้วยการตกลงในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่หลายนิวเคลียร์ที่มีขอบข่ายกว้างขวางกว่า (2) ด้วยการแก้ไขประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ ที่เข้าขั้นวิกฤต และ (3) ด้วยการเชื่อมโยงมาตรการบางส่วนไปเข้ากับการลดกำลังรบแบบทั่วไป ส่วนรัฐต่าง ๆ ในสองภูมิภาคของโลก คือ ในแอฟริกา และในละตินอเมริกา ก็ได้พยายามจะไม่ให้มีการนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคของตน ๆ โดยวิธีลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ มติที่ได้เรียกร้องให้รัฐในทวีปแอฟริกาทุกรัฐยินยอมให้มีการทำทวีปแอฟริกานี้ให้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ ได้รับการยอมรับจากสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1965 แต่ยังไม่มีการทำหลักการต่าง ๆ ในมตินี้ให้เป็นจริงขึ้นมา ได้แต่ปล่อยเรื่องนี้ให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การเอกภาพแอฟริกา (โอเอยู) ในทางตรงกันข้ามนั้น รัฐต่าง ๆ ในแถบละตินอเมริกาได้เริ่มทำมติสมัชชาใหญ่ที่ออกมาในทำนองเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 1962 และ 1963 ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาในที่ประชุมพิเศษที่เม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ.1967 ซึ่งได้มีการลงนามในสนธิสัญญา (สนธิสัญญาทลาตีลอลโก) ห้ามมิให้นำอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบเข้าไปในภูมิภาคนี้ ส่วนรัฐที่มีนิวเคลียร์ซึ่งรวมทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ฝรั่งเศส และจีน นั้นก็ได้ให้สัตยาบันในพิธีสารของสนธิสัญญาฉบับนี้ โดยยินยอมที่จะไม่นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคละตินอเมริกานี้ ครั้นเมื่อปี ค.ศ. 1987 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้บรรลุข้อตกลงให้สร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ในยุโรปตะวันออกและในยุโรปตะวันตก โดยให้ทำการเคลื่อนย้ายอาวุธปล่อยพิสัยปานกลางและพิสัยใกล้ตลอดจนหัวรบนิวเคลียร์ทั้งของฝ่ายโซเวียตและของฝ่ายตะวันตกออกไปจากภูมิภาคส่วนนี้เสียทั้งหมด

Disarmament Proposal : Disengagement

ข้อเสนอลดกำลังรบ : การถอนกองกำลังที่เผชิญหน้ากัน

การถอนกองกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่ให้ออกมาจากที่ตั้งที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่นั้น ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 ถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 ได้มีการเสนอแผนถอนกำลังที่เผชิญหน้ากันอยู่เพื่อทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปยุโรป หรือในรัฐต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเป็นเขตปลอดทหาร และเป็นเขตเป็นกลาง นับเป็นจำนวนเกือบร้อยข้อเสนอ โดยผู้ที่เสนอข้อเสนอเหล่านี้ มีทั้งจากผู้นำทางการเมืองของค่ายตะวันออกและค่ายตะวันตก พวกนักปราชญ์ ผู้ทรงภูมิความรู้ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลดกำลังรบ ข้อเสนอให้มีการถอนกองกำลัง จากจุดที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่นั้น ได้เรียกร้องให้มีการสร้างเขตเป็นกลางขึ้น ที่เยอรมนีทั้งทางฟากตะวันออกและฟากตะวันตกที่บางส่วนหรือทุกส่วนของเชโกสโลวะเกีย ที่บางส่วนหรือทุกส่วนของโปแลนด์ และที่บางส่วนหรือทุกส่วนของโปแลนด์ นอกจากนี้แล้วก็ได้เรียกร้องให้มีการยอมรับข้อตกลงทางพรมแดนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และให้มีการลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศในกลุ่มสนธิสัญญานาโต กับกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ

ความสำคัญ ฝ่ายผู้สนับสนุนให้มีการถอนกำลังที่เผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก อ้างว่า การจัดตั้งเขตเป็นกลางขึ้นมานั้น (1) จะช่วยลดอันตรายของสงครามใหญ่ที่จะขยายตัวจากเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุทางพรมแดน (2) จะช่วยขจัดความตึงเครียดในสงครามเย็น และ (3) จะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการลดกำลังรบชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนฝ่ายที่คัดค้านทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือพวกผู้นำทางการเมืองและทางการทหารของสหรัฐฯและเยอรมัน ก็พร้อมกันโต้แย้งว่า การถอนกำลังที่เผชิญหน้ากันอยู่นี้ จะเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายสหภาพโซเวียต เพราะจะไปสร้างความอ่อนแอแก่ระบบป้องกันของสนธิสัญญานาโตในยุโรปตะวันตกโดย (1) จะไปทำลายยุทธศาสตร์การป้องกันของสนธิสัญญานาโต และ (2) จะไปเคลื่อนย้ายหน่วยรบเยอรมันที่ทรงอานุภาพออกไปจากกองกำลังป้องกันของฝ่ายสนธิสัญญานาโต ส่วนสหภาพโซเวียตก็ได้คัดค้านโครงการของฝ่ายตะวันตกเกือบจะทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะกลัวว่า การสร้างเขตเป็นกลางขึ้นในรัฐต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกนั้น จะส่งผลให้สหภาพโซเวียตไม่สามารถควบคุมและมีอิทธิพลต่อชาติเหล่านั้น และก็อาจทำให้การยึดครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคส่วนนี้เกิดความอ่อนแอตามไปด้วย ส่วนข้อเสนอให้มีการถอนกำลังเผชิญหน้าออกจากกันที่น่าสนใจที่สุดนั้น ก็คือ ข้อเสนอของนายอดัม ราพาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ ที่เสนอต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1957 ในแผนราพาคีได้เรียกร้องให้ “สร้างเขตปลอดปรมาณูและปลอดทหาร ประกอบด้วยเยอรมนีทั้งฟากตะวันออกและฟากตะวันตก โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกีย” ถึงแม้ว่าแผนราพาคีนี้จะได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตามห้วงเวลาต่าง ๆ มาตลอด แต่ก็ยังถูกฝ่ายผู้นำของสหรัฐฯคัดค้านมาตลอดอีกเช่นกัน เพราะแผนนี้ไม่มีเรื่องการจำกัดกองกำลังตามแบบอยู่เลย

Disarmament Proposal : General and Complete Disarmament

ข้อเสนอลดกำลังรบ : การลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์

ข้อเสนอให้กำจัดกำลังรบและอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งปวง ภายใต้ระบบควบคุมในระดับนานาชาติ ข้อเสนอที่ให้มีการลดกำลังรบแบบใหญ่และสมบูรณ์ในระหว่างยุคของสหประชาชาตินี้ ได้มีการพิจารณาเป็นทางการครั้งแรก เมื่อตอนที่นายกรัฐมนตรี นิกิตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต ได้นำปัญหานี้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 14 เมื่อปี ค.ศ. 1959 ทั้งข้อเสนอของฝ่ายสหภาพโซเวียต และแผนที่ร่างร่วมกันของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ประกอบกันเป็นสาระของข้อเสนอของฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตะวันออกว่าด้วยการลดกำลังรบแบบใหญ่และสมบูรณ์นี้ ทั้งสองแผนได้กำหนดไว้ดังนี้ (1) ให้มีการลดกำลังรบแบบสมบูรณ์ในสามขั้นตอนด้วยกัน (2) ให้มอบหมายหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมแก่องค์การลดกำลังรบระหว่างประเทศ (ไอดีโอ) และ (3) ให้มีการบังคับใช้โดยดำเนินการผ่านทางคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ

ความสำคัญ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 เป็นต้นมา เรื่องราวของข้อเสนอให้มีการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์ กับข้อเสนอให้มีการลดกำลังรบเฉพาะเจาะจงเป็นอย่าง ๆ ซึ่งได้มีการเสนอจากทั้งค่ายตะวันตกและค่ายตะวันออกนี้ มักจะเป็นประเด็นสำคัญในระเบียบวาระประชุมของสมัชชาใหญ่ ในระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมการชุดแรกของสมัชชาใหญ่ ในระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการลดกำลังรบของสหประชาชาติ และในระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมการเจรจาต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะสามารถบรรลุถึงความเห็นพ้องต้องกัน หรือฉันทามติในบางเรื่อง แต่โอกาสที่จะมีการลงนามในสนธิสัญญาลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์ในทุกวันนี้มีน้อยกว่าเมื่อตอนช่วงปี ค.ศ. 1959 ที่ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ที่สำคัญ ก็คือ ปัญหาในเรื่องห้วงเวลา เรื่องกองกำลังในระดับต่าง ๆ เรื่องระบบการตรวจสอบ เรื่ององค์กรที่จะมาทำหน้าที่ควบคุม และเรื่องระบบที่จะนำมาใช้บังคับ ข้อตกลงขั้นสุดท้ายที่ถึงขั้นจะให้ขจัดกองทัพทุกกองทัพและระบบอาวุธในทุกระบบนั้น อาจจะต้องคอยกันต่อไป จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้ต่อไปนี้ คือ มีการขจัดประเด็นปัญหาทางการเมืองสำคัญ ๆ ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกได้หมดแล้ว มีการยุติการแข่งขันทางด้านอุดมการณ์ การเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลกเพื่อความเป็นยอดที่ดำเนินการอยู่ระหว่างสองค่ายใหญ่นี้ มีการเจรจากันจนสามารถยุติสงครามเย็นลงได้ และให้จีนกับฝรั่งเศสได้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการลดกำลังรบนี้อย่างเต็มที่ การลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์นี้ มีความแตกต่างจากความพยายามในการควบคุมอาวุธ ในขณะที่สนธิสัญญาการควบคุมอาวุธหลายฉบับได้มีผลบังคับแล้ว แต่ฉันทามติหรือความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์นี้ ยังไม่ปรากฏวี่แววออกมาให้เห็นเลย

Disarmament Proposal : International Disarmament Organization (IDO)

ข้อเสนอลดกำลังรบ : องค์การลดกำลังรบระหว่างประเทศ (ไอดีโอ)

องค์การที่จะทำหน้าที่คอยตรวจสอบและควบคุม ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เป็นต้นมา ในแผนลดกำลังรบที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเสนอมาให้เป็นองค์กรทำการควบคุมกระบวนการสามขั้นตอน เพื่อให้บรรลุถึงการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์ องค์การไอดีโอที่ฝ่ายสหภาพโซเวียตเสนอนั้น จะประกอบด้วยการประชุมและคณะมนตรีควบคุม ส่วนองค์การไอดีโอตามแบบที่สหรัฐฯ เสนอนั้น กำหนดให้มีการประชุมใหญ่ คณะมนตรีควบคุม และผู้บริหารที่จะทำหน้าที่บริหารองค์การไอดีโอภายใต้การชี้นำของคณะมนตรีควบคุม ในทั้งสองแผนข้างต้นนั้น การประชุมจะทำหน้าที่เป็นองค์กรสร้างนโยบายทั่วไป ส่วนคณะมนตรีควบคุมจะมีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ สอดส่อง และบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลง องค์การไอดีโอนี้จะได้รับการจัดตั้งขึ้นมา เมื่อสนธิสัญญาการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์นี้มีผลบังคับใช้แล้ว และจะทำหน้าที่อยู่ในกรอบของสหประชาชาติ

ความสำคัญ องค์การลดกำลังรบระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อเสนอของทั้งสหรัฐอเมริกาและของสหภาพโซเวียต จะมีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุมกว้างใหญ่ไพศาล จะทำหน้าที่ควบคุมการทำลาย หรือการเคลื่อนย้ายอาวุธต่าง ๆ ในเขตที่กว้างขวางมากในช่วงสามขั้นตอนของการลดกำลังรบ และจะคอยตรวจสอบอาวุธต่าง ๆ ที่ยังคงอยู่นั้นไปจนกว่าการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์จะสำเร็จเสร็จสิ้น ถึงแม้ว่าในข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายให้ทุกชาติที่ลงนามในสนธิสัญญาการลดกำลังรบนี้ได้มีตัวแทนประจำอยู่ในคณะมนตรีควบคุมขององค์การไอดีโอนี้ แต่ข้อเสนอของฝ่ายสหภาพโซเวียตได้ย้ำมากยิ่งขึ้นว่า องค์ประกอบของคณะมนตรีควบคุมนี้ “จะต้องมีตัวแทนจากกลุ่มรัฐสำคัญ 3 กลุ่มที่มีอยู่ในโลก” คือ กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มทุนนิยม และกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในแผนของสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เหมือนกับแผนของสหภาพโซเวียตได้กำหนดไว้ว่า การลดกำลังรบในขั้นตอนที่สองจะดำเนินการต่อไปได้ก็ต่อเมื่อ “รัฐที่มีความสำคัญทางทหารทุกรัฐ” (หมายถึงทุกรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์) ให้ความเคารพในสนธิสัญญาฉบับนี้ และได้เข้าร่วมในองค์การไอดีโอนี้ด้วย ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์การไอดีโอเป็นองค์การควบคุมกลางทำหน้าที่บริหารสนธิสัญญาลดกำลังรบนี้ ยังคงเป็นท่าทีหรือจุดยืนขั้นพื้นฐานของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพ โซเวียต แต่ทว่าความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในด้านการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์นี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เป็นต้นมามีน้อยมาก

Disarmament Proposal : “Open Sky”

ข้อเสนอลดกำลังรบ : “เปิดท้องฟ้า หรือ ท้องฟ้าเปิด”

แผนที่ประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาว แห่งสหรัฐอเมริกา เสนอต่อประธานาธิบดี นิกิตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต ในที่ประชุมสุดยอดครั้งแรกที่กรุงเจนีวาเมื่อปี ค.ศ. 1955 เพื่อลดความกลัวหรือภัยจากการโจมตีด้วยนิวเคลียร์โดยไม่ทันรู้ตัวระหว่างกันและช่วยผ่าทางตันในการเจรจาลดกำลังรบ ข้อเสนอ “เปิดท้องฟ้า หรือท้องฟ้าเปิด” นี้ได้พัฒนามาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่ได้ไปพบปะกันที่ฐานทัพนาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกา ที่เมืองควนติโค มลรัฐเวอร์จิเนีย เป็นข้อเสนอที่กำหนดให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้แลกเปลี่ยนผังพิมพ์เขียวแสดงที่ตั้งทหารของกันและกัน และให้ทำการตรวจสอบทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ในดินแดนของกันและกันได้ด้วย

ความสำคัญ ข้อเสนอ “เปิดท้องฟ้า หรือท้องฟ้าเปิด” นี้เป็นความพยายามสำคัญที่จะผ่าทางตันในการเจรจาลดกำลังรบนิวเคลียร์ เป็นการเสนอแผนขั้นต้นที่จะเอาชนะข้อโต้แย้งของสหภาพโซเวียตต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาที่ให้มีการตรวจสอบที่ตั้งทางการทหาร แต่ในที่สุดแล้ว สหภาพโซเวียตได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้โดยอ้างว่า จุดมุ่งหมายหลักของข้อเสนอนี้ ก็เพื่อจะให้สหรัฐอเมริกาสามารถทำการจารกรรมได้ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มและฝ่ายสหภาพโซเวียตได้ปฏิเสธไปนี้ ได้ทำให้สหรัฐอเมริกามีชัยชนะทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ฉกฉวยผลอันนี้เอาไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง

Disarmament Strategy : Direct Approach

ยุทธศาสตร์การลดกำลังรบ : แนวทางโดยตรง

ยุทธศาสตร์แสวงหาข้อตกลงการลดกำลังรบ ที่ให้ความสำคัญต่อการเจรจาเพื่อให้มีการลดกำลังรบ มากกว่าที่จะไปพูดในเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แนวทางโดยตรงนี้ ผู้ให้การสนับสนุนได้พรรณนาไว้ด้วยหลักการว่า “จะใช้วิธีลดกำลังรบก็ต้องให้ลดกำลังรบ” แนวทางโดยตรงนี้จะแตกต่างจากแนวทางโดยอ้อม ซึ่งวิธีหลังนี้ถือว่า การลดกำลังรบนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นความไม่ลงรอยกันทางการเมืองที่สำคัญ ๆ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขให้ได้เสียก่อน ก่อนที่การลดกำลังรบจะสามารถเป็นเป้าหมายที่เป็นจริงขึ้นมาได้

ความสำคัญ ผู้ที่ให้การสนับสนุนแนวทางโดยตรงในการลดกำลังรบนี้ มีสมมติฐานว่าการแข่งขันสั่งสมอาวุธในตัวของมันเองเป็นที่มาสำคัญของความไม่มั่นคงระหว่างผู้เข้าร่วมในการเจรจา เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยวิธีจะให้การแข่งขันการสะสมอาวุธมีการควบคุมนั้น ก็จะต้องใช้วิธีหยุดกระแสการแข่งขันอาวุธนั้นเสียเลย และในขณะเดียวกันนั้น ก็จะต้องลดความตึงเครียดระหว่างกันด้วยการให้มีการลดกำลังรบเฉพาะอาวุธชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ เมื่อการเคลื่อนไหวสร้างความมั่นใจเหล่านี้ได้รับการตอบสนองด้วยดีพอควรแล้ว การแก้ปัญหาความไม่ลงรอยทางด้านการเมืองก็จะทำได้ง่ายขึ้น เมื่อทำอย่างนี้ได้แล้ว ก็จะสามารถทำข้อตกลงลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ สหรัฐอเมริกาเป็นชาติหนึ่งที่เคยได้ให้การสนับสนุนแนวทางโดยตรงในการลดกำลังรบในระหว่างที่เกิดสงคราม แต่สหภาพโซเวียตและอินเดียได้พูดให้การสนับสนุนในแนวทางนี้ในสหประชาชาติมากที่สุด

Disarmament Strategy : Indirect Approach

ยุทธศาสตร์การลดกำลังรบ : แนวทางโดยอ้อม

ยุทธศาสตร์การแสวงหาข้อตกลงการลดกำลังรบ ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาทางการเมือง และเรื่องเกี่ยวข้องที่สำคัญ ๆ โดยถือว่ามีความจำเป็นต้องทำก่อนที่จะได้มีการพัฒนาความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการลดกำลังรบ ผู้ที่ให้การสนับสนุนแนวทางโดยอ้อมนี้ถือว่า การลดกำลังรบเป็นจุดมุ่งหมายอันดับรองหาได้เป็นจุดมุ่งหมายรีบด่วนแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะพวกนี้มีความเห็นว่า การสั่งสมอาวุธยุทธภัณฑ์นี้เป็นผลผลิตของความไม่มั่นคงปลอดภัยของระบบรัฐที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งของผลประโยชน์แห่งชาติ แนวทางโดยอ้อมนี้มีความแตกต่างจากแนวทางโดยตรง ซึ่งมีข้อสมมติฐานว่า การแข่งขันสั่งสมอาวุธนั่นเองที่มีส่วนไปก่อให้เกิดการตึงเครียดในโลกขึ้นมา และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความตึงเครียดนี้ก็จะต้องถูกจำกัดออกไปให้ได้เสียก่อน

ความสำคัญ ฝ่ายที่ให้การสนับสนุนแนวทางโดยอ้อมในการลดกำลังรบนี้ มีสมมติฐานว่า การเจรจาจำกัดอาวุธจะไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างชาติต่าง ๆ ที่กำลังแข่งกันสะสมอาวุธกันอยู่นี้ให้ได้ โดยวิธีการสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจกันและความเข้าใจระหว่างกันขึ้นมา ตรงนี้ก็อาจหมายถึงว่า ในโลกปัจจุบันนี้ การแก้ปัญหาเรื่องสงครามเย็นที่เป็นตัวการสร้างความแตกแยกมากที่สุดนี้ และการจัดตั้งระบบสันติภาพของสหประชาชาติที่มีประสิทธิผล ควรจะเป็นความเร่งด่วนทางการทูตยิ่งเสียกว่าการเจรจาในเรื่องลดกำลังรบ ถึงแม้ว่าทั้งฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกจะเห็นตรงกันว่าไม่ควรจะมีเงื่อนไขทางการเมืองก่อนที่จะบรรลุถึงข้อตกลงในเรื่องการลดกำลังรบนี้ก็จริง แต่จากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันในประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการลดกำลังรบนี้ได้ ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีความไม่ไว้วางใจกัน ที่มีผลมาจากเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นตัวการแบ่งแยกทั้งสองค่ายออกจากกันนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

Disarmament Strategy : Unilateral Disarmament

ยุทธศาสตร์ลดกำลังรบ : การลดกำลังรบฝ่ายเดียว

ยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ผู้สนับสนุนการลดกำลังรบบางคนส่งเสริมให้นำมาใช้เพื่อผ่าทางตันในการเจรจา โดยการริเริ่มด้วยตนเองฝ่ายเดียวก่อน แผนลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้ มีรากฐานมาจากข้อสมมติฐานที่ว่า ทั้งสองฝ่ายที่แข่งขันการสะสมอาวุธกันอยู่นี้ล้วนแต่อยากจะลดกำลังรบด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ลดไม่ได้ก็เพราะความกลัว ความตึงเครียด และความไม่ไว้วางใจกันจึงต้องแสวงหาความมั่นคงโดยเพิ่มพูนอาวุธยุทธภัณฑ์ให้มากเข้าไว้ พวกยึดถือทฤษฎีลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้ มีความเห็นว่า ควรจะแสดงเจตจำนงในทางสันติมากกว่าจะมาใช้ลมปากพูดจากัน และพวกนี้มีความเชื่อว่า การลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้จะทำให้การแข่งกันสะสมอาวุธยุติเสียได้ โคยจะไปกระตุ้นให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบสนองต่อการริเริ่มการลดกำลังรบของตนตามมา

ความสำคัญ ผู้ที่ให้การสนับสนุนการลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้ มีตั้งแต่กลุ่มผู้ใฝ่สันติภาพเรื่อยไปจนถึงพวกนักปราชญ์นักวิชาการและผู้นำทางการเมือง ซึ่งมองเรื่องการลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้ในแง่ของนโยบายรักษาผลประโยชน์ของชาติยิ่งเสียกว่าในแง่ปัญหาทางด้านศีลธรรม พวกที่ยึดแนวความคิดแบบอุดมคตินิยมคือกลุ่มใฝ่หาสันติภาพนี้มีความเชื่อว่า ควรจะใช้นโยบายต่อต้านทางอ้อม(โดยยับยั้งการสะสมอาวุธ)อย่างต่อเนื่องเท่านั้น ในกรณีที่ฝ่ายลดกำลังรบฝ่ายเดียวถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่วนพวกที่มีแนวความคิดแบบสัจนิยมก็มีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า หากการริเริ่มลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้มิได้รับการตอบสนองจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออีกฝ่ายหนึ่งได้ถือโอกาสฉกฉวยเอาเรื่องนี้ไปสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันสะสมอาวุธขึ้นมา ฝ่ายที่ริเริ่มนั้นก็สามารถหันกลับมาดำเนินนโยบายแข็งกร้าวได้ทัน กลุ่มที่ยึดแนวทางแบบสัจนิยมนี้เห็นว่า การลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้ เป็นเพียงตัว “กระตุ้นทางจิตวิทยา “ ที่ไปช่วยกระตุ้นให้มีการเจรจาลดกำลังรบสองฝ่ายจากการที่ได้เห็นอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาดีออกมาให้เห็นก่อน ในการเข่งขันสะสมอาวุธกันในปัจจุบันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้สะสมนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพมากอื่น ๆ ไว้มากมาย ซึ่งถึงแม้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะลดกำลังรบโดยฝ่ายเดียว อย่างไรเสียฝ่ายนี้ก็ยังมีอานุภาพพอที่จะทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งได้อยู่ดี ถึงแม้ว่าข้อเสนอให้ลดกำลังรบฝ่ายเดียวนี้มุ่งจะให้เป็นทางเลือกแทนการแข่งขันการสะสมอาวุธ แต่ก็เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของการแข่งขันการสะสมอาวุธที่ไร้เหตุผลเป็นที่สุด ดังนั้น จึงมิได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางนโยบายจากผู้นำของชาติต่าง ๆ ที่มัวแต่คิดถึงเรื่องความมั่นคงแห่งชาติอยู่ท่าเดียว

Disarmament Strategy : United Nations Disarmament Forums

ยุทธศาสตร์ลดกำลังรบ : การประชุมลดกำลังรบสหประชาชาติ

การประชุมของคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่อภิปรายและเจรจาคณะต่าง ๆ ที่สหประชาชาติตั้งขึ้นมาเพื่อให้ได้ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการการลดกำลังรบและการควบคุมอาวุธ เมื่อปี ค.ศ. 1946 ได้มีการประชุมว่าด้วยการลดกำลังรบสหประชาชาติเป็นครั้งแรกมีชื่อเรียกว่า การประชุมของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงและแคนาดา ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ดำเนินการทำให้แผนบารุชเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งแผนนี้ได้เรียกร้องให้มีการลดกำลังรบนิวเคลียร์แบบสมบูรณ์ เมื่อถึงปี ค.ศ. 1947 คณะมนตรีความมั่นคงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการลดกำลังรบอาวุธภาคปกติ เพื่อให้มาทำหน้าที่สนับสนุนงานของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูนั้น พอถึงปี ค.ศ. 1952 คณะกรรมาธิการทั้งสองคณะนี้สมัชชาใหญ่ได้จับให้มารวมตัวกันเป็นคณะกรรมาธิการลดกำลังรบสหประชาชาติ ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 ชาติและแคนาดาเหมือนอย่างในกรณีของสองคณะกรรมาธิการที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ต่อมาคณะกรรมาธิการลดกำลังรบสหประชาชาตินี้ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชาติซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต บริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และแคนาดา ซึ่งคณะอนุกรรมการคณะนี้ได้พบปะกันเป็นการส่วนตัวในระหว่าง ค.ศ. 1954 - 1957 พอถึง ค.ศ. 1959 ลักษณะของตัวแทนได้แยกออกเป็นฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก และได้จัดตั้งคณะกรรมการ 10 ชาติว่าด้วยการลดกำลังรบซึ่งประกอบด้วยฝ่ายตะวันออก 5 ชาติ คือ บัลแกเรีย เชโกสโลวะเกีย โปแลนด์ โรมาเนีย และสหภาพโซเวียต ส่วนฝ่ายตะวันตกมี 5 ชาติเหมือนกัน คือ บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐอเมริกา เมื่อถึงปี ค.ศ. 1961 คณะกรรมาธิการ 10 ชาติว่าด้วยการลดกำลังรบนี้ ได้ขยายตัวเป็นคณะกรรมการลดกำลังรบ 18 ชาติ (ดีเอ็นดีซี) ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ “ดำเนินการเจรจาเพื่อให้บรรลุ . . . ข้อตกลงว่าด้วยการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์แบบ ภายใต้การควบคุมของนานาชาติอย่างมีประสิทธิผล” การแบ่งสรรปันส่วนในเรื่องสมาชิกระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก ในการประชุมใหม่ครั้งนี้ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่ได้เพิ่มสมาชิกใหม่เข้ามาจากกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอีกจำนวน 8 ชาติด้วย ครั้นถึงปี ค.ศ. 1969 คณะกรรมการดีเอ็นดีซีนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็น การประชุมคณะกรรมการลดกำลังรบ (ซีซีดี) โดยได้มีการเพิ่มสมาชิกให้แก่กลุ่มประเทศโลกที่ 3 ทำให้การประชุมของคณะกรรมการคณะนี้มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 26 ชาติ และในปีเดียวกันนี้ การเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (ซอลท์) ระหว่างคู่เจรจาจากสหรัฐอเมริกาและจากสหภาพโซเวียต ก็ได้เริ่มต้นขึ้นและได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายปี พอถึงปี ค.ศ. 1978 การประชุมพิเศษครั้งที่ 10 ของสมัชชาใหม่ (เอสเอสโอดีวัน) ก็ได้มุ่งถกแถลงกันเพื่อหาทางผ่าทางตันในการลดกำลังรบนี้ และในการประชุมพิเศษครั้งที่ 10 นี้ทางซีซีดีได้ขยายตัวเป็นคณะกรรมาธิการลดกำลังรบใหม่ซึ่งมีสมาชิกรวมกันถึง 40 ชาติ และได้มีการรื้อฟื้นให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการลดอาวุธสหประชาชาติที่ทำงานไม่ค่อยจะกระฉับกระเฉงนักนับแต่ปี ค.ศ. 1965 ทั้งนี้โดยการเสนอของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งต้องการให้มีกองประชุมทำงานกระฉับกระเฉงประกอบด้วยสมาชิกในระดับสากล การประชุมพิเศษว่าด้วยการลดกำลังรบครั้งที่ 2 (เอสเอสโอดีทู) ได้จัดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1982 นอกเหนือจากการประชุมต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้แล้ว สหประชาชาติก็ยังได้สนับสนุนให้มีการเจรจาการลดกำลังรบและการควบคุมอาวุธในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางผ่าทางตันหรือภาวะชะงักงันให้แก่การเจรจาในเรื่องนี้

ความสำคัญ ในระหว่างประวัติศาสตร์ของสหประชาชาตินี้ การประชุมลดกำลังรบหลายคณะได้พบปะกันในที่ประชุมที่ยืดเยื้อยาวนานนับเป็นพัน ๆ ครั้ง ความพยายามของการประชุมเหล่านี้มุ่งจะให้บรรลุถึงการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่ผู้เจรจาต่าง ๆ ต้องการจะให้บรรลุถึง แต่การณ์กลับปรากฏว่า ความพยายามที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายในการควบคุมอาวุธในขอบเขตที่จำกัดประสบความสำเร็จมากกว่า ในข้อนี้จะเห็นได้จากผลสำเร็จจากการที่สามารถบรรลุถึงข้อตกลงต่าง ๆ กล่าวคือ (1) สนธิสัญญาแอนตาร์กติก (2) ข้อตกลง “ฮอตไลน์” (3) สนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์บางส่วน (4) สนธิสัญญาห้ามแพร่กระจาย (5) สนธิสัญญาพื้นท้องทะเล (6) สนธิสัญญาอวกาศ และ (7) ข้อตกลงใช้ปรมาณูเพื่อสันติ เป็นต้น นับเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ความคืบหน้าไปสู่การลดกำลังรบนิวเคลียร์ได้ถูกจำกัดจากการปฏิเสธของรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ 2 รัฐ กล่าวคือ จีนและฝรั่งเศส ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา ทางฝ่ายรัฐที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนั้น ก็ได้พยายามนำเรื่องการลดกำลังรบนี้กระตุ้นในสหประชาชาติเสมอมา แต่ในขณะเดียวกันนี้ มหาอำนาจทั้งจากค่ายตะวันออกและค่ายตะวันตก ก็ได้พยายามที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเหล่านี้ เมื่อมีการประชุมในเรื่องการลดกำลังรบเกือบจะทุกครั้ง จะพยายามกดดันมหาอำนาจนิวเคลียร์ดำเนินการเจรจาโดยมุ่งหวังว่า ภาวะชะงักงันในการลดกำลังรบที่สำคัญบางอย่างจะสามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ อย่างไรก็ดี ประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกลุ่มโลกที่ 3 ได้ทำการแข่งขันการสะสมอาวุธกับประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น ทำให้ความพยายามที่จะให้ทั่วทั้งโลกลดกำลังรบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีปัญหาเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

Disarmament Strategy : World Disarmament Conference

ยุทธศาสตร์ลดกำลังรบ : การประชุมลดกำลังรบโลก

การประชุมระดับนานาชาติของทุกรัฐที่สนใจจะให้บรรลุถึงการลดกำลังรบโลกเพื่อร่างสนธิสัญญาสำคัญเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายข้างต้นนั้น การประชุมลดกำลังรบโลกครั้งแรกได้จัดขึ้นโดยสันนิบาตชาติที่กรุงเจนีวาระหว่าง ค.ศ. 1932 - 1934 โดยมีรัฐต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมจำนวน 61 รัฐด้วยกัน ต่อมาก็ได้มีการเรียกประชุมลดกำลังรบโลกครั้งที่ 2 โดยพฤตินัยเมื่อ ค.ศ. 1978 ซึ่งตอนนั้นมีรัฐสมาชิกจำนวน 149 รัฐ และองค์การที่มิใช่ภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) อีกจำนวนมากได้มาพบปะกันในที่ประชุมพิเศษว่าด้วยการลดกำลังรบ (เอสเอสโอดีวัน) เพื่อช่วยกันผ่าทางตันในเรื่องที่สำคัญ ๆ ส่วนการประชุมพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยการลดกำลังรบครั้งที่ 2 (เอสเอสโอดีทู) ได้จัดขึ้นมื่อ่ปี ค.ศ. 1982 โดยมีประมุขรัฐจำนวน 19 คน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจำนวน 50 คน รวมทั้งรัฐสมาชิกทุกรัฐของสหประชาชาติมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ทุกคนต่างแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะต้องมีการลดกำลังรบ แต่ก็ไม่มีการกระทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จะลดอาวุธยุทธภัณฑ์

ความสำคัญ แนวทางประชุมลดกำลังรบโลกนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะผ่าทางตันในการเจรจาที่ค้างคาอยู่นั้น โดยได้สนับสนุนให้เกือบทุกรัฐได้มามีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้โดยสร้างกระแสมติโลกให้มาช่วยผลักดันมหาอำนาจให้บรรลุข้อตกลงให้ได้ และโดยการจัดการกับปัญหาสำคัญทุกอย่างของการลดกำลังรบและความมั่นคงไปพร้อมกันนี้ด้วย อย่างไรก็ดี การประชุมครั้งแรกนั้นประสบกับความล้มเหลวไม่สามารถก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ขึ้นมาได้ เพราะมหาอำนาจได้เสนอข้อเสนอที่แตกต่างกันมากจนไม่สามารถจะประนีประนอมได้ ความขัดแย้งสำคัญระหว่างข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสที่ต้องการมีอาวุธเหนือกว่าเยอรมนี กับการที่เยอรมนียืนยันว่าฝ่ายตนก็ต้องการมีอาวุธเท่าเทียมกับฝรั่งเศสนั้น ได้สร้างความอ่อนแอให้แก่การประชุมครั้งนี้ตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี ค.ศ. 1933 เขาก็ได้ถอนเยอรมนีออกจากการประชุม ทำให้ความหวังทั้งปวงที่จะบรรลุข้อตกลงได้จางหายไปจนหมดสิ้น ส่วนการประชุมครั้งที่ 2 ที่เรียกประชุมเมื่อปี ค.ศ. 1978 โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้มุ่งประเด็นปัญหาไปที่ว่าทำอย่างไรถึงจะควบคุมการแข่งขันการสะสมอาวุธที่เพิ่มมากขึ้นของหมู่ประเทศด้อยพัฒนา และให้มีการยอมรับโครงการปฏิบัติการลดกำลังรบอันจะส่งผลให้มีการคืบหน้าในการลดกำลังรบอย่างสำคัญในหมู่รัฐที่มีนิวเคลียร์ต่าง ๆ ส่วนข้อตกลงลดกำลังรบที่เจาะจงเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีเหมือนกัน อย่างเช่น (1) การห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (2) การลดกำลังรบในยุโรปตอนกลาง (3) การลดอาวุธนิวเคลียร์และระบบส่งนิวเคลียร์ และ (4) การห้ามใช้อาวุธเคมีและอาวุธรังสีมหาประลัย ทั้งฝรั่งเศสและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เข้าร่วมในการประชุมพิเศษว่าด้วยการลดกำลังรบนี้เมื่อปี ค.ศ. 1978 และ ค.ศ. 1982

Nuclear Winter

ฤดูหนาวนิวเคลียร์

ภาพความพินาศย่อยยับที่เป็นผลกระทบเบ็ดเสร็จจากสงครามนิวเคลียร์ต่อโลกและประชากรโลก ฤดูหนาวนิวเคลียร์ที่ว่านี้ ในทรรศนะของนักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่าจะมีผลต่อสภาพแวดล้อมของโลก จนถึงกับมีการตั้งข้อสงสัยกันว่าชีวิตมนุษย์จะสามารถดำรงคงอยู่ต่อไปหรือไม่ ในสงครามนิวเคลียร์ นอกจากจะเกิดผลโดยตรงจากการระเบิดของนิวเคลียร์ กล่าวคือ เกิดการระเบิด เกิดความร้อนรุนแรง และเกิดกัมมันตรังสีในอาณาบริเวณที่นิวเคลียร์ตกลงนั้นแล้ว ก็จะมีผลอันดับสองติดตามมา คือ มีฝุ่นละอองกันมันตรังสีนิวเคลียร์ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ และมีการทำลายชั้นโอโซนของโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในทุกวันนี้ได้แสดงภาพการคุกคามของฤดูหนาวนิวเคลียร์ไว้เพิ่มเติมว่าจะเกิดควันและฝุ่นละอองกระจายอยู่ในบรรยากาศจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีกัน โดยควันและฝุ่นละอองจะเข้าบดบังแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่มิให้ตกลงมาถึงพื้นผิวโลก ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดความเย็นยะเยือกไปทั่วทุกพื้นที่ในโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่า จะเย็นมากถึงกับอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเลยทีเดียว ผลที่ตามมาก็คือ จะถึงในระดับการสูญสิ้นมวลมนุษยชาติไปเลย

ความสำคัญ สมมติฐานที่ว่า สงครามนิวเคลียร์จะก่อให้เกิด ฤดูหนาวนิวเคลียร์ ที่จะทำลายชีวิตมนุษย์บนพื้นโลกนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่หาข้อพิสูจน์ยังไม่ได้ และยังเป็นปัญหาที่โต้แย้งกันอยู่ นักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่า จะเป็นอย่างนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับระดับของความเข้มข้นรุงแรงของสงครามนิวเคลียร์ พวกนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้มีความเชื่อว่า ถ้าความเข้มข้นรุนแรงของการทำสงครามนิวเคลียร์อยู่ในระดับต่ำก็อาจจะไม่ถึงขั้นสร้างความหายนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ได้ ส่วนนักวิทยาศาสตร์อีกพวกหนึ่งเชื่อว่าจะให้มวลมนุษยชาติมีความมั่นคงปลอดภัยได้นั้น จำเป็นต้องมีการลดอาวุธนิวเคลียร์ลงมาอยู่ในระดับที่จะไม่เป็นการคุกคามจนเป็นฤดูหนาวนิวเคลียร์ขึ้นมา แต่ให้มาอยู่เพียงในระดับใช้ป้องปรามกันเท่านั้นเอง ด้วยเหตุที่ยังไม่มีอะไรแน่นอนในแนวความคิดของฤดูหนาวนิวเคลียร์ ภัยคุกคามของฤดูหนาวนิวเคลียร์ จึงมิได้ไปช่วยลดการแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ลงมาได้