Monday, October 19, 2009

Disarmament Problem : Inspection

การลดกำลังรบ : การตรวจสอบ

การจัดตั้งกลไกที่จะคอยตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามหรือตรวจจับว่ามีการละเมิดสนธิสัญญาลดกำลังรบหรือไม่ ในการเจรจาในเรื่องระบบการตรวจสอบนี้ จะมีปัญหาต่าง ๆ ให้ต้องหาคำตอบดังนี้ คือ (1) การตรวจสอบนี้ควรจะดำเนินการโดยหน่วยงานในระดับชาติหรือในระดับนานาชาติดี (2) การตรวจสอบเข้าไปในดินแดนของแต่ละประเทศนั้นจะทำได้มากน้อยขนาดไหน (3) จะใช้การตรวจสอบในรูปแบบใด (4) ห้วงเวลาในการตรวจสอบจะทำบ่อยขนาดไหน (5) จะให้อำนาจแก่คณะผู้ตรวจสอบขนาดไหน (6) การกระทำแบบใดบ้างถึงจะเป็นการละเมิดข้อตกลงการลดกำลังรบ

ความสำคัญ การตรวจสอบนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของข้อตกลงกำลังรบใด ๆ เพราะว่าความมั่นคงของผู้เข้าร่วมในข้อตกลง จะขึ้นอยู่กับการยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงของทุกประเทศผู้เข้าร่วม ยกตัวอย่างเช่น ความล้มเหลวในขั้นสุดท้ายของสนธิสัญญาจำกัดกำลังรบทางเรือกรุงวอชิงตันปี ค.ศ. 1932 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะจำกัดกำลังรบทางเรือนั้น ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการไม่มีระบบการตรวจสอบการละเมิด ซึ่งส่งผลให้มีการละเมิดจากฝ่ายหนึ่งแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็ละเมิดตามกันไป ระบบการตรวจสอบกิจกรรมของรัฐอื่นในระดับชาติที่มีประสิทธิผล ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยสนธิสัญญาแอนตาร์กติกปี ค.ศ. 1959 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการทำให้ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นเขตปลอดทหาร แผนการลดกำลังรบระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก 2 แผนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมานั้น ได้มีบทบัญญัติให้มีการตรวจสอบในระดับระหว่างประเทศนี้ไว้ด้วย ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้ย้ำนักย้ำหนาในเรื่องการตรวจสอบนี้ โดยบอกว่าจะต้องมีการจัดตั้งระบบการตรวจสอบในระดับนานาชาติที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างแท้จริงก่อนที่จะได้มีการลดกำลังรบใด ๆ ซึ่งท่าทีนี้ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตได้กล่าวหาว่า เป็นท่าทีที่ชี้นำโดยแผนจารกรรมของสหรัฐ เมื่อ ค.ศ. 1979 ทางการสหรัฐได้ประกาศว่า สหภาพโซเวียตได้ตกลงยินยอมให้ติดตั้งสถานีตรวจสอบแผ่นดินไหวจำนวนสิบแห่งในพรมแดนของตน เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสนธิสัญญาห้ามการทดลองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (ซีทีบี) แต่ในเรื่องให้มีการตรวจสอบสถานที่ตั้งเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงลดกำลังรบแบบทั่วไปและสมบูรณ์นั้นไม่สามารถตกลงกันได้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายที่เจรจากันในเรื่องลดกำลังรบกันอยู่นี้ได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์การลดกำลังรบระหว่างประเทศ (ไอดีโอ) ขึ้นมา โดยจะทำหน้าที่ภายใต้การควบคุมของสหประชาชาติ และจะให้สามารถ “เข้าไปตรวจสอบได้ในทุกสถานที่ที่เห็นว่ามีความจำเป็นโดยใครไม่มีสิทธิคัดค้าน ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิผล” อย่างไรก็ดี แต่ละฝ่ายต่างก็ได้ยืนยันว่า จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการจัดตั้งองค์การไอดีโอนี้ให้ได้เสียก่อน ได้มีการยื่นข้อเสนอหลายครั้งให้มีการจัดตั้งองค์การตรวจสอบในระดับนานาชาติที่มีประสิทธิผลในการทำงานขึ้นมาในช่วงประวัติศาสตร์ของระบบรัฐในยุคนี้ แต่ข้อเสนอเหล่านั้นมีอันต้องล้มเหลวลงทุกที เพราะความกลัว ความไม่ไว้ใจกัน และความหวาดระแวงกัน ที่แฝงอยู่ในแนวความคิดเรื่องอธิปไตยของรัฐ และแนวความคิดในเรื่องชาตินิยม

No comments:

Post a Comment