Monday, October 19, 2009

Arms Control : Treaty for the Prohibition of Nuclear Weapons in Latin America

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในละติน อเมริกา

ข้อตกลงที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สนธิสัญญาทราตีลอลโก ซึ่งได้สร้างเขตปลอดนิวเคลียร์(เอ็นดับเบิลยูเอฟเซส)ในละตินอเมริกา สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในละตินอเมริกานี้ ได้มีการลงนามกันที่นครเม็กซิโกซิตี้เมื่อ ค.ศ. 1967 เมื่อถึงปี ค.ศ. 1980 สนธิสัญญานี้ได้มีการลงนามโดยประเทศในแถบละตินอเมริกาจำนวน 25 ประเทศ และได้มีการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้กับชาติต่างๆ รวม 22 ชาติด้วยกัน มีพิธีสาร 2 ฉบับอันเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาหลัก กล่าวคือ พิธีสารที่ 1 นำไปใช้กับรัฐต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์ทางดินแดนในทวีปอเมริกาและพิธีสารที่ 2 ให้รวมถึงรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทุกรัฐ โดยทุกรัฐได้ถูกห้ามจากสนธิสัญญาฉบับนี้ มิให้นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคส่วนนี้ รวมทั้งได้ห้ามมหาอำนาจต่างประเทศนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปไว้ในฐานทัพของตนในละตินอเมริกานี้ด้วย ครั้นถึง ค.ศ. 1980 มหาอำนาจนิวเคลียร์สำคัญทุกชาติ กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ฝรั่งเศส และจีน ได้ยอมรับพิธีสารที่ 2 นี้ สนธิสัญญาได้จัดตั้งกลไกปฏิบัติการสำหรับตรวจสอบการบังคับใช้บทบัญญัติของสัญญานี้ที่เรียกย่อว่า โอพีเอเอ็นเอแอล (องค์การห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในละตินอเมริกา)

ความสำคัญ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ในละตินอเมริกานี้เป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก ในการสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ในภูมิภาคทางภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งที่ดำเนินการโดยประเทศทั้งหลายในภูมิภาคแห่งนั้นเอง ถึงแม้ว่าชาติส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคนี้จะได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาและพิธีสาร 2 ฉบับของสนธิสัญญานี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีประเทศสำคัญในละตินอเมริกาบางประเทศที่กำลังพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ กล่าวคือ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และคิวบา ล้วนแต่ยังไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างเต็มที่ วิธีปฏิบัติที่ได้นำมาใช้ในการสร้างภูมิภาคนี้ให้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ อาจจะมีประโยชน์ในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ ดังมีตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1987 สนธิสัญญาราโรตองกาซึ่งอาศัยต้นแบบจากสนธิสัญญาละตินอเมริกา วางจุดมุ่งหมายเพื่อประกาศให้ภูมิภาคแปซิฟิกตอนใต้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ สนธิสัญญาราโรตองกามีข้อห้ามมิให้ผลิต ใช้ และทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคส่วนนี้ แต่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเรแกน ได้คัดค้านสนธิสัญญาราโรตองกานี้ และข้อเสนอให้สร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ในคาบสมุทรบอลข่านและคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย เพราะกลัวว่าข้อเสนอเหล่านี้จะไปลดความแข็งแกร่งในยุทธศาสตร์การป้องปรามนิวเคลียร์ของฝ่ายตน

No comments:

Post a Comment