Monday, October 19, 2009

Disarmament Strategy : Indirect Approach

ยุทธศาสตร์การลดกำลังรบ : แนวทางโดยอ้อม

ยุทธศาสตร์การแสวงหาข้อตกลงการลดกำลังรบ ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาทางการเมือง และเรื่องเกี่ยวข้องที่สำคัญ ๆ โดยถือว่ามีความจำเป็นต้องทำก่อนที่จะได้มีการพัฒนาความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการลดกำลังรบ ผู้ที่ให้การสนับสนุนแนวทางโดยอ้อมนี้ถือว่า การลดกำลังรบเป็นจุดมุ่งหมายอันดับรองหาได้เป็นจุดมุ่งหมายรีบด่วนแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะพวกนี้มีความเห็นว่า การสั่งสมอาวุธยุทธภัณฑ์นี้เป็นผลผลิตของความไม่มั่นคงปลอดภัยของระบบรัฐที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งของผลประโยชน์แห่งชาติ แนวทางโดยอ้อมนี้มีความแตกต่างจากแนวทางโดยตรง ซึ่งมีข้อสมมติฐานว่า การแข่งขันสั่งสมอาวุธนั่นเองที่มีส่วนไปก่อให้เกิดการตึงเครียดในโลกขึ้นมา และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความตึงเครียดนี้ก็จะต้องถูกจำกัดออกไปให้ได้เสียก่อน

ความสำคัญ ฝ่ายที่ให้การสนับสนุนแนวทางโดยอ้อมในการลดกำลังรบนี้ มีสมมติฐานว่า การเจรจาจำกัดอาวุธจะไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างชาติต่าง ๆ ที่กำลังแข่งกันสะสมอาวุธกันอยู่นี้ให้ได้ โดยวิธีการสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจกันและความเข้าใจระหว่างกันขึ้นมา ตรงนี้ก็อาจหมายถึงว่า ในโลกปัจจุบันนี้ การแก้ปัญหาเรื่องสงครามเย็นที่เป็นตัวการสร้างความแตกแยกมากที่สุดนี้ และการจัดตั้งระบบสันติภาพของสหประชาชาติที่มีประสิทธิผล ควรจะเป็นความเร่งด่วนทางการทูตยิ่งเสียกว่าการเจรจาในเรื่องลดกำลังรบ ถึงแม้ว่าทั้งฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกจะเห็นตรงกันว่าไม่ควรจะมีเงื่อนไขทางการเมืองก่อนที่จะบรรลุถึงข้อตกลงในเรื่องการลดกำลังรบนี้ก็จริง แต่จากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันในประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการลดกำลังรบนี้ได้ ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีความไม่ไว้วางใจกัน ที่มีผลมาจากเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นตัวการแบ่งแยกทั้งสองค่ายออกจากกันนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

No comments:

Post a Comment