Monday, October 19, 2009

Disarmament Proposal : Denuclearization

ข้อเสนอลดกำลังรบ : การสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์

ข้อตกลงห้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในเขต ในประเทศ หรือในภูมิภาคแห่งใดแห่งหนึ่งที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ การทำให้พื้นที่ต่าง ๆ เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์นี้ ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางมากว่าหนึ่งทศวรรษ ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในคณะกรรมาธิการและคณะกรรมการลดกำลังรบ และในองค์การในระดับนานาชาติและระดับชาติต่าง ๆ แต่ก็มีเพียง 5 เขตเท่านั้นที่สนธิสัญญาสามารถจัดตั้งเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ได้สำเร็จ คือ (1) ที่ทวีปแอนตาร์กติกา (2) ที่พื้นท้องทะเล (3) ที่ละตินอเมริกา (4) ที่แปซิฟิกตอนใต้ และ (5) ที่อวกาศ ในการถกแถลงกันในสหประชาชาติว่าด้วยการสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์นี้ต้องการจะให้ขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่มหาสมุทรอาร์กติก ช่องแคบแบริ่ง ทะเลเอเดรียติก คาบสมุทรบอลข่าน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง และ คาบสมุทรสแกนดิเนเวีย แต่มติ แผน และข้อเสนออย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่แอฟริกา ยุโรปตอนกลาง และละตินอเมริกา

ความสำคัญ การจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นมาตรการลดกำลังรบบางส่วนและมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องมือควบคุมอาวุธอย่างอื่นอยู่ด้วย เป็นต้นว่า (1) สนธิสัญญาห้ามการแพร่กระจายนิวเคลียร์ (2) การห้ามทดลองนิวเคลียร์ในแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และ (3) การจำกัดการผลิตวัสดุแยกปรมาณูในระดับเอาไปทำอาวุธได้ การจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์นี้ ไดัรับการสนับสนุนในหลักการจากทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสหภาพโซเวียต รวมทั้งจากพันธมิตรผู้ถือหางของแต่ละฝ่ายนั้นด้วย นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายสหภาพโซเวียตก็ยังได้สนับสนุนข้อเสนอต่าง ๆ ของนายอดัม ราพาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1957 และข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี วลาดิสลอว์ โคมุลกา เมื่อปี ค.ศ. 1964 ที่ให้มีการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรปตอนกลาง สำหรับแผนของนายราพาคีนั้นได้เรียกร้องให้จัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์และให้มีการลดกำลังภาคปกติไปพร้อม ๆ กันในเยอรมนีทั้งฟากตะวันตกและฟากตะวันออก ในเชโกสโลวะเกีย และในโปแลนด์ ขณะเดียวกันนั้น แผนโคมุลกาก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะเอาชนะข้อโต้แย้งของฝ่ายตะวันตกต่อแผนในครั้งก่อน ๆ โดยกำหนดให้คงอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้ไว้เหมือนเดิมในทุกระดับ ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกได้ปฏิเสธข้อเสนอของโปแลนด์และแผนอื่น ๆ โดยอ้างเหตุผลว่า ความมั่นคงปลอดภัยจากสงครามนิวเคลียร์ควรจะแสวงหาด้วยวิธีดังต่อไปนี้ (1) ด้วยการตกลงในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่หลายนิวเคลียร์ที่มีขอบข่ายกว้างขวางกว่า (2) ด้วยการแก้ไขประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ ที่เข้าขั้นวิกฤต และ (3) ด้วยการเชื่อมโยงมาตรการบางส่วนไปเข้ากับการลดกำลังรบแบบทั่วไป ส่วนรัฐต่าง ๆ ในสองภูมิภาคของโลก คือ ในแอฟริกา และในละตินอเมริกา ก็ได้พยายามจะไม่ให้มีการนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคของตน ๆ โดยวิธีลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยสร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ มติที่ได้เรียกร้องให้รัฐในทวีปแอฟริกาทุกรัฐยินยอมให้มีการทำทวีปแอฟริกานี้ให้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ ได้รับการยอมรับจากสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1965 แต่ยังไม่มีการทำหลักการต่าง ๆ ในมตินี้ให้เป็นจริงขึ้นมา ได้แต่ปล่อยเรื่องนี้ให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การเอกภาพแอฟริกา (โอเอยู) ในทางตรงกันข้ามนั้น รัฐต่าง ๆ ในแถบละตินอเมริกาได้เริ่มทำมติสมัชชาใหญ่ที่ออกมาในทำนองเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 1962 และ 1963 ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาในที่ประชุมพิเศษที่เม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ.1967 ซึ่งได้มีการลงนามในสนธิสัญญา (สนธิสัญญาทลาตีลอลโก) ห้ามมิให้นำอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบเข้าไปในภูมิภาคนี้ ส่วนรัฐที่มีนิวเคลียร์ซึ่งรวมทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ฝรั่งเศส และจีน นั้นก็ได้ให้สัตยาบันในพิธีสารของสนธิสัญญาฉบับนี้ โดยยินยอมที่จะไม่นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในภูมิภาคละตินอเมริกานี้ ครั้นเมื่อปี ค.ศ. 1987 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้บรรลุข้อตกลงให้สร้างเขตปลอดนิวเคลียร์ในยุโรปตะวันออกและในยุโรปตะวันตก โดยให้ทำการเคลื่อนย้ายอาวุธปล่อยพิสัยปานกลางและพิสัยใกล้ตลอดจนหัวรบนิวเคลียร์ทั้งของฝ่ายโซเวียตและของฝ่ายตะวันตกออกไปจากภูมิภาคส่วนนี้เสียทั้งหมด

No comments:

Post a Comment