Monday, October 19, 2009

Arms Control : “Hot Line” Agreement

การควบคุมอาวุธ : ข้อตกลง “ฮอตไลน์”

บันทึกความเข้าใจระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตที่ลงนามกันที่กรุงเจนีวาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1963 ซึ่งเป็นผลให้มีการติดตั้งสายเชื่อมโยงติดต่อทางไกลอย่างเป็นทางการระหว่างกรุงวอชิงตันกับกรุงมอสโก เพื่อจะได้ให้ประมุขรัฐบาลของสองประเทศนี้สามารถติดต่อกันได้โดยตรงในระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์ การติดต่อทางสายเคเบิลทางไกลในทำนองเดียวกันนี้ ก็ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาระหว่างกรุงมอสโกกับกรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1966 และระหว่างกรุงลอนดอนกับกรุงมอสโกเมื่อปี ค.ศ. 1967 ข้อตกลง “ฮอตไลน์” นี้ได้พัฒนามาจากความกลัวว่าจะมีการใช้สงครามนิวเคลียร์ยิงตอบโต้กัน เพราะผลของการเข้าใจผิด การคำนวณผิดพลาด เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความผิดพลาดในการสื่อสารกัน

ความสำคัญ วิกฤตการณ์อาวุธปล่อยที่คิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1962 ได้กระตุ้นให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกาและของสหภาพโซเวียด เกิดตระหนักถึงภยันตรายร้ายแรงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีผลเพราะผลจากเกิดการล้มเหลวในการติดต่อกัน ซึ่งตอนนั้นประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ต้องใช้เครื่องอำนวยความสะดวกทางการพาณิชย์ติดต่อกับนายกรัฐมนตรี นิคิตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต ข้อตกลงเรื่อง “ฮอตไลน์” นี้เป็นตัวไปช่วยเสริมช่องทางการติดต่อทางการทูตที่มีลักษณะเชื่องช้าอุ้ยอ้าย และการติดต่อด้วยทาง “ฮอตไลน์” นี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลเมื่อปี ค.ศ. 1967 ได้มีการใช้เคเบิลทางไกลติดต่อส่งข่าวสารถึงกันมากกว่า 20 ชิ้น ระหว่างผู้นำสหรัฐกับผู้นำสหภาพโซเวียต ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบอกกันและกันได้ว่าทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการขยายสงครามครั้งนี้ออกไป แนวความคิดให้มีการเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารถึงกันได้นี้ เป็นหนึ่งในจำนวนข้อเสนอต่าง ๆ ที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างนำมาอภิปรายกันตลอดเวลาหลายปี เพื่อใช้เป็นหนทางหนึ่งที่จะลดอันตรายจากสงครามนิวเคลียร์ นอกจากนี้แล้ว ก็ได้มีการเสนอข้อเสนออื่น ๆ อย่างเช่น ให้มีการติดตั้งสถานีตรวจสอบภาคพื้นดิน ให้มีการแจ้งข่าวล่วงหน้าเมื่อจะมีการเคลื่อนย้ายทางการทหารที่สำคัญ ๆ และให้มีการตรวจสอบทางอากาศถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหารของกันและกัน เป็นต้น แต่ข้อเสนอเหล่านี้ได้ถูกปฏิเสธจากฝ่ายสหภาพโซเวียตหรือไม่ก็จากฝ่ายสหรัฐอเมริกาว่ามันจะเป็นเครื่องมือในการจารกรรม หรือเป็นความพยายามที่จะชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางด้านอาวุธของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ดี เมื่อปี ค.ศ. 1987 ได้มีข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตให้มีการแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงในเรื่องฮอตไลน์นี้ให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามในอีกขั้นหนึ่งที่จะป้องกันมิให้เกิดหายนภัยนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุระหว่างกัน ข้อตกลงใหม่นี้ได้กำหนดให้มีการเปิด “ศูนย์ลดความเสี่ยงนิวเคลียร์” ในทั้งสองประเทศ ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ระหว่างกัน และให้ปฏิบัติการร่วมกันเพื่อป้องกันการโจรกรรมอาวุธนิวเคลียร์

No comments:

Post a Comment