Monday, October 19, 2009

Arms Control : Washington Treaty for the Limitation of Naval Armaments (1922)

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญากรุงวอชิงตันว่าด้วยการจำกัดกำลังรบทางเรือ (ค.ศ. 1922)

ข้อตกลงที่ได้บรรลุในที่ประชุมจำกัดกำลังรบทางเรือที่กรุงวอชิงตันระหว่างปี ค.ศ. 1921 - 1922 โดยมหาอำนาจทางทะเลชั้นนำ เพื่อจำกัดขนาดและการสร้างเรือรบขนาดใหญ่ กับวางข้อกำหนดเกี่ยวกับอัตราส่วนของอำนาจทางเรือในห้วงเวลา 20 ปี สนธิสัญญากรุงวอชิงตันฉบับนี้ ได้บัญญัติไว้ว่า (1) เรือประจัญบานจะถูกจำกัดให้มีระวางขับน้ำไม่เกิน 35,000 ตันและให้ติดอาวุธปืนประจำเรือได้ไม่เกินขนาด 16 นิ้ว ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินนั้นก็ถูกจำกัดให้มีระวางขับน้ำไม่เกิน 27,000 ตัน (2) การสร้างเรือใหม่ ๆ ในชั้นนี้ ห้ามมิให้สร้างขึ้นมาภายในระยะเวลา 10 ปี (3) เรือรบขนาดใหญ่ที่นำมาทดแทนเรือเดิมในช่วงหลังปี ค.ศ. 1931 จะต้องใช้อัตราส่วนของปี ค.ศ. 1942 ดังนี้คือ : บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) 5, สหรัฐอเมริกา 5, ญี่ปุ่น 3, ฝรั่งเศส 1.67 และอิตาลี 1.67 และ (4) ประเทศภาคีร่วมลงนามจะต้องจำกัดฐานทัพเรือ และป้อมปราการต่าง ๆ ในพื้นที่แปซิฟิก แต่ความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงในที่ประชุมเพื่อจำกัดเรืออื่น ๆ เช่น เรือดำน้ำ เรือลาดตระเวน และเรือพิฆาตไม่ได้รับฉันทามติ

ความสำคัญ สนธิสัญญาทางเรือกรุงวอชิงตันนี้ เป็นตัวอย่างที่หาได้ยากของข้อตกลงโดยมหาอำนาจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมอาวุธ สนธิสัญญาฉบับนี้เริ่มมาจากความต้องการที่จะหาวิธีการงดเว้นการแข่งขันทางด้านอาวุธทางเรือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สร้างความสิ้นเปลืองอย่างมหาศาลระหว่างมหาอำนาจผู้ชนะสงคราม ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาจะต้องยึดมั่นในนโยบายมีเรือรบขนาดใหญ่ที่มีระวางขับน้ำเท่าเทียมกับอังกฤษตามที่สนธิสัญญากำหนดไว้แล้วนั้น แต่แทนที่สหรัฐจะดำเนินโครงการแข่งขันสร้างเรือที่จะต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปมากมายนั้น สหรัฐก็ได้หันไปใช้วิธีแสวงหาข้อตกลงเพื่อหาทางปรับแต่งสนธิสัญญานี้จนสามารถสร้างความเท่าเทียมกันในด้านเรือรบขนาดใหญ่กับอังกฤษได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาฉบับนี้มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบและการบังคับใช้บทบัญญัติต่าง ๆ เอาไว้ จึงทำให้ต่อมาชาติผู้ลงนามทุกชาติต่างไม่เคารพในเจตจำนงและในตัวบทของข้อตกลงนี้ และได้หันไปดำเนินโครงการแข่งขันกันสร้างเรือในชั้นต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย และในที่สุดสนธิสัญญานี้ก็ได้รับการกระทบอย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 เมื่อเยอรมนีผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและได้มีวิวัฒนาการเกิดเป็นดุลอำนาจโลกใหม่ขึ้นมา แต่จากประสบการณ์ของสนธิสัญญาทางเรือกรุงวอชิงตันฉบับนี้บ่งบอกให้เราได้รู้ว่า ข้อตกลงของมหาอำนาจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมอาวุธอย่างจำกัดเฉพาะด้านนี้เป็นเรื่องที่เปราะบางมากและพร้อมที่จะถึงแก่การถูกยกเลิก เมื่อมีการแข่งขันทางด้านอาวุธชนิดอื่น และเมื่อมีการขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น อันเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของผู้ลงนามในสนธิสัญญานั้น

No comments:

Post a Comment