Monday, October 19, 2009

Disarmament Strategy : World Disarmament Conference

ยุทธศาสตร์ลดกำลังรบ : การประชุมลดกำลังรบโลก

การประชุมระดับนานาชาติของทุกรัฐที่สนใจจะให้บรรลุถึงการลดกำลังรบโลกเพื่อร่างสนธิสัญญาสำคัญเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายข้างต้นนั้น การประชุมลดกำลังรบโลกครั้งแรกได้จัดขึ้นโดยสันนิบาตชาติที่กรุงเจนีวาระหว่าง ค.ศ. 1932 - 1934 โดยมีรัฐต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมจำนวน 61 รัฐด้วยกัน ต่อมาก็ได้มีการเรียกประชุมลดกำลังรบโลกครั้งที่ 2 โดยพฤตินัยเมื่อ ค.ศ. 1978 ซึ่งตอนนั้นมีรัฐสมาชิกจำนวน 149 รัฐ และองค์การที่มิใช่ภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) อีกจำนวนมากได้มาพบปะกันในที่ประชุมพิเศษว่าด้วยการลดกำลังรบ (เอสเอสโอดีวัน) เพื่อช่วยกันผ่าทางตันในเรื่องที่สำคัญ ๆ ส่วนการประชุมพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยการลดกำลังรบครั้งที่ 2 (เอสเอสโอดีทู) ได้จัดขึ้นมื่อ่ปี ค.ศ. 1982 โดยมีประมุขรัฐจำนวน 19 คน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจำนวน 50 คน รวมทั้งรัฐสมาชิกทุกรัฐของสหประชาชาติมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ทุกคนต่างแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะต้องมีการลดกำลังรบ แต่ก็ไม่มีการกระทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จะลดอาวุธยุทธภัณฑ์

ความสำคัญ แนวทางประชุมลดกำลังรบโลกนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะผ่าทางตันในการเจรจาที่ค้างคาอยู่นั้น โดยได้สนับสนุนให้เกือบทุกรัฐได้มามีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้โดยสร้างกระแสมติโลกให้มาช่วยผลักดันมหาอำนาจให้บรรลุข้อตกลงให้ได้ และโดยการจัดการกับปัญหาสำคัญทุกอย่างของการลดกำลังรบและความมั่นคงไปพร้อมกันนี้ด้วย อย่างไรก็ดี การประชุมครั้งแรกนั้นประสบกับความล้มเหลวไม่สามารถก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ขึ้นมาได้ เพราะมหาอำนาจได้เสนอข้อเสนอที่แตกต่างกันมากจนไม่สามารถจะประนีประนอมได้ ความขัดแย้งสำคัญระหว่างข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสที่ต้องการมีอาวุธเหนือกว่าเยอรมนี กับการที่เยอรมนียืนยันว่าฝ่ายตนก็ต้องการมีอาวุธเท่าเทียมกับฝรั่งเศสนั้น ได้สร้างความอ่อนแอให้แก่การประชุมครั้งนี้ตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี ค.ศ. 1933 เขาก็ได้ถอนเยอรมนีออกจากการประชุม ทำให้ความหวังทั้งปวงที่จะบรรลุข้อตกลงได้จางหายไปจนหมดสิ้น ส่วนการประชุมครั้งที่ 2 ที่เรียกประชุมเมื่อปี ค.ศ. 1978 โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้มุ่งประเด็นปัญหาไปที่ว่าทำอย่างไรถึงจะควบคุมการแข่งขันการสะสมอาวุธที่เพิ่มมากขึ้นของหมู่ประเทศด้อยพัฒนา และให้มีการยอมรับโครงการปฏิบัติการลดกำลังรบอันจะส่งผลให้มีการคืบหน้าในการลดกำลังรบอย่างสำคัญในหมู่รัฐที่มีนิวเคลียร์ต่าง ๆ ส่วนข้อตกลงลดกำลังรบที่เจาะจงเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีเหมือนกัน อย่างเช่น (1) การห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (2) การลดกำลังรบในยุโรปตอนกลาง (3) การลดอาวุธนิวเคลียร์และระบบส่งนิวเคลียร์ และ (4) การห้ามใช้อาวุธเคมีและอาวุธรังสีมหาประลัย ทั้งฝรั่งเศสและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เข้าร่วมในการประชุมพิเศษว่าด้วยการลดกำลังรบนี้เมื่อปี ค.ศ. 1978 และ ค.ศ. 1982

No comments:

Post a Comment