Monday, October 19, 2009

Disarmament Strategy : United Nations Disarmament Forums

ยุทธศาสตร์ลดกำลังรบ : การประชุมลดกำลังรบสหประชาชาติ

การประชุมของคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่อภิปรายและเจรจาคณะต่าง ๆ ที่สหประชาชาติตั้งขึ้นมาเพื่อให้ได้ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการการลดกำลังรบและการควบคุมอาวุธ เมื่อปี ค.ศ. 1946 ได้มีการประชุมว่าด้วยการลดกำลังรบสหประชาชาติเป็นครั้งแรกมีชื่อเรียกว่า การประชุมของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงและแคนาดา ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ดำเนินการทำให้แผนบารุชเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งแผนนี้ได้เรียกร้องให้มีการลดกำลังรบนิวเคลียร์แบบสมบูรณ์ เมื่อถึงปี ค.ศ. 1947 คณะมนตรีความมั่นคงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการลดกำลังรบอาวุธภาคปกติ เพื่อให้มาทำหน้าที่สนับสนุนงานของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูนั้น พอถึงปี ค.ศ. 1952 คณะกรรมาธิการทั้งสองคณะนี้สมัชชาใหญ่ได้จับให้มารวมตัวกันเป็นคณะกรรมาธิการลดกำลังรบสหประชาชาติ ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 ชาติและแคนาดาเหมือนอย่างในกรณีของสองคณะกรรมาธิการที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ต่อมาคณะกรรมาธิการลดกำลังรบสหประชาชาตินี้ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชาติซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต บริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และแคนาดา ซึ่งคณะอนุกรรมการคณะนี้ได้พบปะกันเป็นการส่วนตัวในระหว่าง ค.ศ. 1954 - 1957 พอถึง ค.ศ. 1959 ลักษณะของตัวแทนได้แยกออกเป็นฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก และได้จัดตั้งคณะกรรมการ 10 ชาติว่าด้วยการลดกำลังรบซึ่งประกอบด้วยฝ่ายตะวันออก 5 ชาติ คือ บัลแกเรีย เชโกสโลวะเกีย โปแลนด์ โรมาเนีย และสหภาพโซเวียต ส่วนฝ่ายตะวันตกมี 5 ชาติเหมือนกัน คือ บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐอเมริกา เมื่อถึงปี ค.ศ. 1961 คณะกรรมาธิการ 10 ชาติว่าด้วยการลดกำลังรบนี้ ได้ขยายตัวเป็นคณะกรรมการลดกำลังรบ 18 ชาติ (ดีเอ็นดีซี) ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ “ดำเนินการเจรจาเพื่อให้บรรลุ . . . ข้อตกลงว่าด้วยการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์แบบ ภายใต้การควบคุมของนานาชาติอย่างมีประสิทธิผล” การแบ่งสรรปันส่วนในเรื่องสมาชิกระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก ในการประชุมใหม่ครั้งนี้ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่ได้เพิ่มสมาชิกใหม่เข้ามาจากกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอีกจำนวน 8 ชาติด้วย ครั้นถึงปี ค.ศ. 1969 คณะกรรมการดีเอ็นดีซีนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็น การประชุมคณะกรรมการลดกำลังรบ (ซีซีดี) โดยได้มีการเพิ่มสมาชิกให้แก่กลุ่มประเทศโลกที่ 3 ทำให้การประชุมของคณะกรรมการคณะนี้มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 26 ชาติ และในปีเดียวกันนี้ การเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (ซอลท์) ระหว่างคู่เจรจาจากสหรัฐอเมริกาและจากสหภาพโซเวียต ก็ได้เริ่มต้นขึ้นและได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายปี พอถึงปี ค.ศ. 1978 การประชุมพิเศษครั้งที่ 10 ของสมัชชาใหม่ (เอสเอสโอดีวัน) ก็ได้มุ่งถกแถลงกันเพื่อหาทางผ่าทางตันในการลดกำลังรบนี้ และในการประชุมพิเศษครั้งที่ 10 นี้ทางซีซีดีได้ขยายตัวเป็นคณะกรรมาธิการลดกำลังรบใหม่ซึ่งมีสมาชิกรวมกันถึง 40 ชาติ และได้มีการรื้อฟื้นให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการลดอาวุธสหประชาชาติที่ทำงานไม่ค่อยจะกระฉับกระเฉงนักนับแต่ปี ค.ศ. 1965 ทั้งนี้โดยการเสนอของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งต้องการให้มีกองประชุมทำงานกระฉับกระเฉงประกอบด้วยสมาชิกในระดับสากล การประชุมพิเศษว่าด้วยการลดกำลังรบครั้งที่ 2 (เอสเอสโอดีทู) ได้จัดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1982 นอกเหนือจากการประชุมต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้แล้ว สหประชาชาติก็ยังได้สนับสนุนให้มีการเจรจาการลดกำลังรบและการควบคุมอาวุธในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางผ่าทางตันหรือภาวะชะงักงันให้แก่การเจรจาในเรื่องนี้

ความสำคัญ ในระหว่างประวัติศาสตร์ของสหประชาชาตินี้ การประชุมลดกำลังรบหลายคณะได้พบปะกันในที่ประชุมที่ยืดเยื้อยาวนานนับเป็นพัน ๆ ครั้ง ความพยายามของการประชุมเหล่านี้มุ่งจะให้บรรลุถึงการลดกำลังรบทั่วไปและสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่ผู้เจรจาต่าง ๆ ต้องการจะให้บรรลุถึง แต่การณ์กลับปรากฏว่า ความพยายามที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายในการควบคุมอาวุธในขอบเขตที่จำกัดประสบความสำเร็จมากกว่า ในข้อนี้จะเห็นได้จากผลสำเร็จจากการที่สามารถบรรลุถึงข้อตกลงต่าง ๆ กล่าวคือ (1) สนธิสัญญาแอนตาร์กติก (2) ข้อตกลง “ฮอตไลน์” (3) สนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์บางส่วน (4) สนธิสัญญาห้ามแพร่กระจาย (5) สนธิสัญญาพื้นท้องทะเล (6) สนธิสัญญาอวกาศ และ (7) ข้อตกลงใช้ปรมาณูเพื่อสันติ เป็นต้น นับเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ความคืบหน้าไปสู่การลดกำลังรบนิวเคลียร์ได้ถูกจำกัดจากการปฏิเสธของรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ 2 รัฐ กล่าวคือ จีนและฝรั่งเศส ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา ทางฝ่ายรัฐที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนั้น ก็ได้พยายามนำเรื่องการลดกำลังรบนี้กระตุ้นในสหประชาชาติเสมอมา แต่ในขณะเดียวกันนี้ มหาอำนาจทั้งจากค่ายตะวันออกและค่ายตะวันตก ก็ได้พยายามที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเหล่านี้ เมื่อมีการประชุมในเรื่องการลดกำลังรบเกือบจะทุกครั้ง จะพยายามกดดันมหาอำนาจนิวเคลียร์ดำเนินการเจรจาโดยมุ่งหวังว่า ภาวะชะงักงันในการลดกำลังรบที่สำคัญบางอย่างจะสามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ อย่างไรก็ดี ประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกลุ่มโลกที่ 3 ได้ทำการแข่งขันการสะสมอาวุธกับประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น ทำให้ความพยายามที่จะให้ทั่วทั้งโลกลดกำลังรบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีปัญหาเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

No comments:

Post a Comment