Monday, October 19, 2009

Arms Control : Helsinki Accord

การควบคุมอาวุธ : ข้อตกลงกรุงเฮลซิงกิ

ข้อตกลงทางการทูตที่สำคัญ ลงนามกันที่กรุงเฮลซิงกิเมื่อปี ค.ศ. 1975 หลังเสร็จสิ้นการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือกันในยุโรป (ซีเอสซีอี) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในยุโรประหว่างฝ่ายตะวันตกกับฝ่ายตะวันออก ข้อตกลงนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กรรมสารสุดท้ายกรุงเฮลซิงกิ” เป็นข้อตกลงที่ได้ลงนามโดยผู้เข้าร่วมประชุมจาก 35 ชาติ ที่เป็นชาติในกลุ่มสนธิสัญญานาโต ที่เป็นชาติในกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ส่วนอีก 13 ชาตินั้นเป็นชาติเป็นกลางและชาติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในยุโรป ข้อตกลงเฮลซิงกินี้ แยกออกเป็น 4 หมวด หรือ “บาสเกต” โดยที่หมวดหรือบาสเกตที่ 1 กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในทวีปยุโรป ซึ่งรวมถึงหลักการขั้นพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและปัญหาของความมั่นคงโดยเฉพาะ ซึ่งก็รวมทั้งการหามาตรการสร้างความมั่นใจขึ้นมาให้ได้ หมวดหรือบาสเกตที่ 2 กำหนดในเรื่องความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี และด้านสภาพแวดล้อม ส่วนบาสเกตที่ 3 ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมความพยายามในด้านมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม การศึกษา และความมีอิสระในการเคลื่อนย้ายประชาชน แนวความคิดและข่าวสารไปได้ทั่วทวีปยุโรป สำหรับบาสเกตที่ 4 ว่าด้วยการจัดให้มีการประชุมพิจารณาทบทวน โดยได้เรียกร้องให้รัฐผู้เข้าร่วมประชุม “ได้สืบสานกระบวนการพหุภาคีที่ได้ริเริ่มโดยที่ประชุมนี้ต่อไป” การประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ที่สำคัญได้จัดขึ้นที่กรุงเบลเกรด (ค.ศ. 1977) ที่กรุงมาดริด (ค.ศ. 1980) และที่กรุงเวียนนา (ค.ศ. 1987)

ความสำคัญ ข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้ เป็นความพยายามสำคัญที่จะลดความเป็นศัตรูกันระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก โดยให้ชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรปทุกชาติรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ได้ยอมรับสถานภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรปตลอดจนได้หันมาให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับความร่วมมือและความเข้าใจกันระหว่างทุกชาติในยุโรป ถึงแม้ว่าข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้จะเป็นเพียงข้อตกลงทางการทูต มิใช่สนธิสัญญาและไม่มีผลผูกพันเป็นกฏหมายระหว่างประเทศก็จริง แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ได้สร้างความคาดหวังบางอย่างเกี่ยวกับความประพฤติของรัฐต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม และได้มีการกำหนดให้มีการประชุมพิจารณาทบทวนเป็นระยะ ๆ ในเรื่องที่ได้คาดหวังเอาไว้แล้วเหล่านี้ มีผลดีบางอย่างได้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการลงนามในกรรมสารสุดท้ายกรุงเฮลซิงกิฉบับนี้ ยกตัวอย่างเช่น ทางการโซเวียตได้อนุญาตให้ชาวยิวอพยพไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ได้ภายหลังจากมีข้อตกลงเฮลซิงกินี้แล้ว ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันก็ได้ประกาศนิรโทษกรรมและปล่อยนักโทษทางการเมืองหลายราย สำหรับในด้านการให้ความคุ้มครองสภาพแวดล้อมนั้น รัฐต่าง ๆ ในทวีปยุโรปที่ได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเฮลซิงกินี้ ก็ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ดี ได้มีการกระทำหลายอย่างที่บ่งบอกว่าเป็นการปฏิเสธหลักการต่าง ๆ ของข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้เหมือนกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหภาพโซเวียตส่งกำลังทหารรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อปี ค.ศ. 1979 สัมพันธภาพระหว่างตะวันออกกับตะวันตกก็ได้เสื่อมทรามลง

No comments:

Post a Comment