Monday, October 19, 2009

Arms Control : Non-Proliferation Treaty (NPT)

การควบคุมอาวุธ : สนธิสัญญาห้ามการแพร่กระจายนิวเคลียร์ (เอ็นพีที)

ข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในหมู่รัฐต่าง ๆ ที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์นี้ ได้นำมาตอกย้ำในช่วงสี่ปีที่มีการเจรจากันในคณะกรรมาธิการว่าด้วยการลดกำลังรบ 18 ชาติ (ดีเอนดีซี) และในคณะกรรมาธิการการเมืองและความมั่นคงของสมัชชาใหญ่ ซึ่งก็เป็นเหตุนำไปสู่การยอมรับร่างสนธิสัญญาโดยสมัชชาใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1968 ภายใต้ข้อกำหนดของสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้ให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์แต่ละรัฐยินยอม “ที่จะไม่ถ่ายโอน... ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือชี้นำให้รัฐที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ทำการผลิต หรือดำเนินการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์” และให้รัฐที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์แต่ละรัฐยินยอม “ที่จะไม่รับ ... ไม่ผลิต หรือไม่ดำเนินการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์” สนธิสัญญาซึ่งมีบทบัญญัติรวม 11 มาตรานี้ มีผลบังคับใช้หลังจากที่ได้มีการให้สัตยาบันโดยสามมหาอำนาจนิวเคลียร์ (คือ บริเตนใหญ่ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา) และโดยชาติที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อีก 40 ชาติ ในปัจจุบันชาติต่าง ๆ เกือบจะทุกชาติได้ร่วมลงนามในสัญญาฉบับนี้แล้ว และได้ยอมรับบทบัญญัติให้มีการจำกัดเสรีภาพในการกระทำของตนในด้านอาวุธนิวเคลียร์ แต่เพื่อป้องกันมิให้มีการคุกคามด้วยการใช้วิธี “แบล็คเมล์ทางนิวเคลียร์” ในอนาคต มหาอำนาจที่มีนิวเคลียร์ทั้งสามชาติได้เสนอแนะให้คณะมนตรีความมั่นคงปฏิบัติการ “ ให้ความช่วยเหลืออย่างรีบด่วน โดยสอดคล้องกับกฎบัตร แก่รัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการกระทำ หรือตกเป็นเป้าของการข่มขู่คุกคามโดยการใช้อาวุธนิวเคลียร์”

ความสำคัญ สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์นี้ ถือได้ว่าสามารถนำไปสู่ความพยายามที่จะควบคุมการคุกคามกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ ที่การเจรจาในสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดการยืดเยื้อนั้น เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในนาโตในเรื่องที่ฝ่ายตะวันตกพยายามจะจัดตั้งกองเรือติดอาวุธปล่อยโพลาริส โดยอิงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังพหุภาคี (เอ็มแอลเอฟ) ซึ่งทางฝ่ายสหภาพโซเวียตก็มีจุดยืนว่า หากมีการจัดตั้งระบบดังกล่าวขึ้นมา ก็ถือได้ว่าเป็นการแพร่หลายนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหภาพโซเวียตกลัวว่าเยอรมนีจะมีขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ขึ้นมานั่นเอง การแตกแยกกันในกลุ่มประเทศนาโตนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องยกเลิกโครงการเอ็มแอลเอฟ ซึ่งก็ส่งผลต่อมาให้การเจรจากับสหภาพโซเวียตนำไปสู่การตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้ได้สำเร็จ จุดมุ่งหมายสำคัญ ๆ ของสนธิสัญญานี้ก็คือ (1) เพื่อลดการคุกคามด้วยสงครามนิวเคลียร์ (2) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการคืบหน้าในการหาทางลดกำลังรบนิวเคลียร์ และ (3) เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในทุกรัฐ จุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของสนธิสัญญา คือ ที่ต้องการคงสถานภาพเดิมเอาไว้ กล่าวคือ ในสโมสรนิวเคลียร์ที่เคยมีสมาชิกที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ 5 ชาติก็ขอให้คงจำนวนนี้ไว้ต่อไป ซึ่งก็อาจจะมองไปว่า เป็นจุดมุ่งหมายที่เลือกปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของทุกรัฐนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อมีการเพิ่มสมาชิกในสมาคมนิวเคลียร์เข้ามาในแต่ละครั้งนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มอันตรายของสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากอุบัติเหตุ การคำนวณผิดพลาด หรือการขยายสงคราม แต่ในปัจจุบันนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวกับจำนวนของชาติที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นสมาชิกในสโมสรนิวเคลียร์นี้ ซึ่งคิดประเมินคร่าว ๆ แล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ชาติ ซึ่งชาติต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะมีฐานทางวิทยาศาสตร์ ทางเทคนิค และฐานทางอุตสาหกรรมที่จะสร้างขีดความสามารถทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว หรือจะมีความสามารถในรื่องนี้ในไม่ช้านี้ เราเรียกปัญหาเรื่องนี้ว่า “ ชาติปริศนา ” อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้มีประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพทางอาวุธนิวเคลียร์ในแง่ของเทคโนโลยีและการมีวัตถุแยกนิวเคลียร์แล้ว ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ อิสราเอล บราซิล อียิปต์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี ส่วนชาติอื่น ๆ อีกหลายขาติก็มีขีดความสามารถตามมาติด ๆ อุปสรรคสำคัญทำให้ระบบการควบคุมทำงานไม่ได้ผล ก็คือ มีรัฐที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งไม่ยอมลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ นอกจากสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามแพร่หลายอาวุธนิวเคลียร์นี้แล้ว ก็ยังได้มีความพยายามที่จะจำกัดการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ที่กระทำในรูปของการเจรจาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และการจัดตั้งเขตหรือทวีปที่ปลอดนิวเคลียร์ขึ้นมา

No comments:

Post a Comment