Monday, October 19, 2009

Disarmament Proposal : Disengagement

ข้อเสนอลดกำลังรบ : การถอนกองกำลังที่เผชิญหน้ากัน

การถอนกองกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่ให้ออกมาจากที่ตั้งที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่นั้น ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 ถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 ได้มีการเสนอแผนถอนกำลังที่เผชิญหน้ากันอยู่เพื่อทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปยุโรป หรือในรัฐต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเป็นเขตปลอดทหาร และเป็นเขตเป็นกลาง นับเป็นจำนวนเกือบร้อยข้อเสนอ โดยผู้ที่เสนอข้อเสนอเหล่านี้ มีทั้งจากผู้นำทางการเมืองของค่ายตะวันออกและค่ายตะวันตก พวกนักปราชญ์ ผู้ทรงภูมิความรู้ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลดกำลังรบ ข้อเสนอให้มีการถอนกองกำลัง จากจุดที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่นั้น ได้เรียกร้องให้มีการสร้างเขตเป็นกลางขึ้น ที่เยอรมนีทั้งทางฟากตะวันออกและฟากตะวันตกที่บางส่วนหรือทุกส่วนของเชโกสโลวะเกีย ที่บางส่วนหรือทุกส่วนของโปแลนด์ และที่บางส่วนหรือทุกส่วนของโปแลนด์ นอกจากนี้แล้วก็ได้เรียกร้องให้มีการยอมรับข้อตกลงทางพรมแดนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และให้มีการลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศในกลุ่มสนธิสัญญานาโต กับกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ

ความสำคัญ ฝ่ายผู้สนับสนุนให้มีการถอนกำลังที่เผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก อ้างว่า การจัดตั้งเขตเป็นกลางขึ้นมานั้น (1) จะช่วยลดอันตรายของสงครามใหญ่ที่จะขยายตัวจากเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุทางพรมแดน (2) จะช่วยขจัดความตึงเครียดในสงครามเย็น และ (3) จะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการลดกำลังรบชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนฝ่ายที่คัดค้านทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือพวกผู้นำทางการเมืองและทางการทหารของสหรัฐฯและเยอรมัน ก็พร้อมกันโต้แย้งว่า การถอนกำลังที่เผชิญหน้ากันอยู่นี้ จะเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายสหภาพโซเวียต เพราะจะไปสร้างความอ่อนแอแก่ระบบป้องกันของสนธิสัญญานาโตในยุโรปตะวันตกโดย (1) จะไปทำลายยุทธศาสตร์การป้องกันของสนธิสัญญานาโต และ (2) จะไปเคลื่อนย้ายหน่วยรบเยอรมันที่ทรงอานุภาพออกไปจากกองกำลังป้องกันของฝ่ายสนธิสัญญานาโต ส่วนสหภาพโซเวียตก็ได้คัดค้านโครงการของฝ่ายตะวันตกเกือบจะทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะกลัวว่า การสร้างเขตเป็นกลางขึ้นในรัฐต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกนั้น จะส่งผลให้สหภาพโซเวียตไม่สามารถควบคุมและมีอิทธิพลต่อชาติเหล่านั้น และก็อาจทำให้การยึดครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคส่วนนี้เกิดความอ่อนแอตามไปด้วย ส่วนข้อเสนอให้มีการถอนกำลังเผชิญหน้าออกจากกันที่น่าสนใจที่สุดนั้น ก็คือ ข้อเสนอของนายอดัม ราพาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ ที่เสนอต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1957 ในแผนราพาคีได้เรียกร้องให้ “สร้างเขตปลอดปรมาณูและปลอดทหาร ประกอบด้วยเยอรมนีทั้งฟากตะวันออกและฟากตะวันตก โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกีย” ถึงแม้ว่าแผนราพาคีนี้จะได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตามห้วงเวลาต่าง ๆ มาตลอด แต่ก็ยังถูกฝ่ายผู้นำของสหรัฐฯคัดค้านมาตลอดอีกเช่นกัน เพราะแผนนี้ไม่มีเรื่องการจำกัดกองกำลังตามแบบอยู่เลย

No comments:

Post a Comment