Monday, October 19, 2009

Disarmament Proposal : Baruch Plan

ข้อเสนอลดกำลังรบ : แผนบารุช

ข้อเสนอให้มีการควบคุมและลดกำลังรบนิวเคลียร์ ที่เสนอโดยสหรัฐอเมริกาต่อคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1946 แผนที่ว่านี้ซึ่งมีรากฐานมาจากคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษ (รายงานอาชีสัน - ลิเลียนทัล) ได้นำเสนอโดยรัฐบุรุษอาวุโส เบอร์นาร์ด บารุช โดยถือว่าเป็นข้อเสนออย่างเป็นทางการของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เลิกผูกขาดอาวุธปรมาณู โดยการกำกับของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ ประเด็นใหญ่ ๆ ในแผนบารุชมีดังนี้คือ (1) ให้มีการจัดตั้งองค์การพัฒนาปรมาณูระหว่างประเทศเพื่อควบคุมในทุกขั้นตอนของการพัฒนาและการใช้พลังงานนิวเคลียร์ (2)ให้อำนาจอย่างไม่จำกัดแก่องค์การนี้เพื่อคอยสอดส่องมิให้มีการละเมิดข้อตกลง (3) ให้มีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อการละเมิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุเครื่องแยกตัวปรมาณูนี้ไปพัฒนาอาวุธ (4) ให้เลิกผลิตอาวุธปรมาณูและให้ทำลายอาวุธปรมาณูที่เก็บไว้ในคลังแสงเสียทั้งหมด หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งองค์การที่ว่านี้ขึ้นมาแล้ว และ (5) ให้เปลี่ยนแปลงระบบการออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงเสียใหม่ เพื่อมิให้มีการใช้อำนาจยับยั้งในการป้องกันการลงโทษแก่ผู้ละเมิด

ความสำคัญ แผนบารุชเพื่อลดกำลังรบและควบคุมปรมาณูนี้ ถึงแม้ว่าจะถูกปฏิเสธจากสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1946 แต่ก็ยังคงช่วยให้ข้อมูลที่สำคัญหลายอย่างที่ได้มีการนำไปใช้ในข้อเสนอลดกำลังรบนิวเคลียร์ของสหรัฐในช่วงเวลาต่อมา ที่สหภาพโซเวียตปฏิเสธแผนบารุชนี้ก็โดยที่อ้างว่า หากมีการนำแผนนี้มาบังคับใช้ สหรัฐอเมริกาก็จะเป็นชาติเดียวที่มีขีดความสามารถในการผลิตอาวุธปรมาณู และว่า สหรัฐอเมริกาครอบงำกระบวนการตัดสินใจในสหประชาชาติ เมื่อมีการจัดตั้งองค์การพัฒนาปรมาณูระหว่างประเทศขึ้นมา สหรัฐก็จะพลอยควบคุมองค์การนี้ไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นแล้วสหภาพโซเวียตในช่วงเวลานั้นกำลังดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตอาวุธปรมาณูอยู่ ซึ่งก็ได้ส่งผลให้มีการทดลองระเบิดอุปกรณ์ปรมาณูเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1949 ที่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตมีข้อโต้แย้งกันในบทบัญญัติของแผนบารุช ก็คือ ไม่สามารถตกลงกันได้ (1) ในเรื่องกำหนดเวลาในการตรวจสอบและควบคุม (2) ในเรื่องพัฒนาพลังงานปรมาณูในระดับชาติและในระดับนานาชาติ และ (3) ในเรื่องอำนาจขององค์การที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุม ครั้นวันเวลาผ่านไปหลายปี ประเด็นที่ตกลงกันยังไม่ได้เหล่านี้ก็ได้ลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ กระนั้นก็ดี ข้อตกลงเรื่องการลดกำลังรบนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติอยู่ต่อไป

No comments:

Post a Comment